ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส
อีกประมาณ ๓ สัปดาห์ก็จะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ซึ่งการเลือกตั้งรอบแรกจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ ๒๒ เมษายน ก่อนที่ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด ๒ คนจะเข้าไปชิงชัยกันในรอบที่สองในวันที่ ๖ พฤษภาคม
นับตั้งแต่ปี ๑๙๖๒ ซึ่งถือเป็นการเริ่มใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบทางตรง (le suffrage universel direct) กล่าวคือ ประชาชนไปลงคะแนนเลือกผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีโดยการหย่อนบัตรเหมือนกับการเลือกผู้แทน นี่คือการเลือกตั้งโดยตรง ครั้งที่ ๘
และถือเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งที่ ๒ หลังจากการปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (mandat) จาก ๗ ปี มาเป็น ๕ ปี (du septennat au quinquennat) ซึ่งต้องการให้สอดคล้องกับระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของผู้แทนในรัฐสภา และลดปัญหาอันเกิดจากการเมืองระหว่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนละพรรคการเมือง ซึ่งฝรั่งเศสเรียกว่า cohabitation (หรือการอยู่ร่วมรัฐบาลกันระหว่างประธานาธิบดีและนายกฯ จากต่างพรรคการเมือง)
ประธานาธิบดีคนแรกซึ่งมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเท่ากับ ๕ ปีคือ ฌาร์ค ชิรัก ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งในสมัยแรกมาแล้ว ๗ ปี รวมแล้ว จึงดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น ๑๒ ปี
กลับมาเรื่องการเลือกตั้งทางตรง การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจากทางอ้อมมาเป็นทางตรงที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเป็นผลจากการทำประชามติในยุคของนายพลชาร์ล เดอโกล ซึ่งได้ถามประชาชนฝรั่งเศสทั่วประเทศว่าต้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงหรือไม่ ปรากฏว่าผลของการลงประชามติในครั้งนั้นออกมาว่า เสียงข้างมากตอบว่า “ใช่”
นับตั้งแต่การปกครองในสาธารณรัฐที่ ๓ (le IIIe République) หรือตั้งแต่ปี ๑๘๗๕ จนกระทั่งปี ๑๙๖๒ ซึ่งอยู่ ภายใต้สาธารณรัฐที่ ๕ (ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐที่ ๕ คือ นายพลชาร์ล เดอโกล ซึ่งก็เป็นคนสุดท้ายของสาธารณรัฐที่ ๔ เช่นกัน ส่วนสาธารณรัฐที่ ๕ ก็เริ่มต้นตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือปี ๑๙๕๘) การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมมาโดยตลอด ซึ่งผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีคือ กลุ่มของอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง ที่เรียกว่า “ collège de grands électeurs ”
ในช่วงต้นของสาธารณรัฐที่ ๕ (le Ve République) กลุ่มอภิ-ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงหรือ grands électeurs ตามรัฐธรรมนูญประกอบด้วย สมาชิกของสภาผู้แทนและวุฒิสภา รวมกับคณะผู้แทนจากเขตการปกครองโพ้นทะเล (Les assemblées des territoires d'outre-mer) และผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากท้องถิ่นของฝรั่งเศสในระดับ municipal รวมแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวนกว่า ๘๐๐๐๐ คน
แม้จะถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย แต่การปฏิรูปในปี ๑๙๖๒ ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายการกระจุกตัวของอำนาจที่เคยอยู่ในมือของนักการเมืองหรืออภิสิทธิ์ชนในชนชั้นปกครองเท่านั้น
ถ้าจะเปรียบเทียบกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่ ๓ และ ๔ ซึ่งกลุ่มอภิ-ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกประธานาธิบดี จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มสมาชิกของรัฐสภา คือสภาสูงและสภาผู้แทนแล้ว ก็นับว่าการกระจุกตัวของอำนาจในการตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีมีความคลี่คลายมาโดยลำดับ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ความจริงแล้ว หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต นั้นเป็นผู้นำรัฐหรือประธานาธิบดีคนแรกของฝรั่งเศสที่ผ่านการเลือกตั้งโดยทางตรงในปี ๑๘๔๘ ภายใต้ระบอบสาธารณรัฐที่ ๒ ก่อนที่นโปเลียนเองจะทำการรัฐประหารในเวลาต่อมา (le coup d'Etat du 2 décembre 1851) และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบจักรวรรดิ์
ดังนั้น นายพลชาร์ล เดอโกล จึงไม่ใช่ประธานาธิบดีรัฐคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และถึงแม้ฝรั่งเศสจะกลับมาใช้ปกครองระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง ภายใต้สาธารณรัฐที่ ๓ หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิ์ แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยทางอ้อม ก็ถูกใช้มาโดยตลอดมาเป็นระยะเวลาอีกถึง ๘๗ ปี
ระบบการเลือกตั้งทางอ้อมที่ใช้มาเป็นเวลายาวนานจึงอาจสะท้อนถึงความพึงพอใจของผู้อยู่ในอำนาจที่ต้องการจะรักษาระบบของการเลือกตั้งโดยคนกลุ่มน้อยเอาไว้ แทนที่จะคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน
เพราะแน่นอนว่าการเลือกตั้งทางตรงจะทำให้นักการเมืองต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อชนะการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจออกไปยังประชาชน ย่อมเท่ากับว่าผู้ลงสมัครและพรรคการเมืองจำเป็นจะต้องเสนอหรือผลิตนโยบายที่น่าสนใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับเสียงจากประชาชนในวงกว้าง การเลือกตั้งทางตรงจึงเท่ากับเป็นการกระจายส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เคยกระจุกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวออกไปยังกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น
นอกจากนั้น การเลือกตั้งทางตรงนั้นหมายถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารสูงสุดกับประชนชนจะต้องเปลี่ยนไป เพราะประธานาธิบดีจะต้องสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือประชาชนจากทั่วประเทศ แทนที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนโดยอ้อมผ่านทางผู้แทนตามระบบเดิม
เราอาจมองว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงนั้นนำไปสู่การกระจายความเจริญในวงกว้าง และช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของศูนย์กลางและตัวเมืองที่อยู่ห่างไกลอีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับการเลือกตั้งผู้แทนโดยปกติ
วันนี้ เมื่อหันกลับมามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้นำโดยทางตรงนั้น ได้ทำให้ความหลากหลายของประชาชนทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และสังคม กล่าวคือ ในด้านพี้นที่ อาชีพ การศึกษาและความสนใจ ถูกสะท้อนออกมาในความหลากหลายของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพ ทัศนคติและอุดมคติทางการเมือง รวมทั้งอาชีพของผู้สมัครแต่ละคน
ในจำนวนผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์และคุณสมบัติเข้ามาจนถึงรอบแรก ๑๒ คนนั้น เราเห็นผู้สมัครที่มาจากขั้วซ้ายตกขอบตั้งแต่คอมมิวนิสต์ อย่าง มารี-จอร์จ บุฟเฟ่ท์ (Parti Communiste) และโอลิเวีย เบอซองสโน (Ligue Communiste Révolutionnaire) รวมทั้งตัวแทนพรรคกรรมกร อาร์เลตต์ ลากีเย่ (Lutte Ouvrière) และขวัญใจเกษตรกรอย่างโจเซ่ โบเว่ (Gauche antilibérale)
อีกฝั่งหนึ่งก็มีขวาตกขอบที่ชูธงความเป็นชาติฝรั่งเศส เช่น ชอง-มารี เลอ เปน (Front National) และฟิลิปป์ เดอ วิลิเย่ส์ (Mouvement pour la France) ที่รายแรกก็ได้สร้างปรากฏการณ์เข้าไปชิงรอบสองกับชิรัก ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
รวมทั้งมีตัวแทนจากพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดมินิค วัวเนท์ (Les Verts) กับตัวแทนของกลุ่มอาชีพนักล่า ประมงค์ เฟเดอริก นิฮู (Chasse, Pêche, Nature et Traditions) ที่ค่อนข้างจะประกาศตัวเป็นฝั่งตรงข้ามกับพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และกำลังเป็นที่สนใจในสไตล์และนโยบายที่ประกาศออกมา
และตัวแทนของนายกเทศมนตรีอย่าง เจฮาร์ด ชิวาร์ดิ (Candidat des Maires soutenu par le Parti des Travailleurs) ที่น่าสนใจไม่แพ้กันในมุมมองของการสะท้อนกลุ่มอาชีพ
ทั้งหมดนี้เป็นผู้สมัครทางเลือก นอกจากผู้สมัครตัวเต็ง ๓ รายจากพรรคใหญ่ ที่จะขอพูดถึงในโอกาสต่อไป
ข้อมูลจาก
http://www.ladocumentationfrancaise.fr/dossiers/election-presidentielle-2002/president.shtml
http://www.presidentielle-2007.net/
นับตั้งแต่ปี ๑๙๖๒ ซึ่งถือเป็นการเริ่มใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบทางตรง (le suffrage universel direct) กล่าวคือ ประชาชนไปลงคะแนนเลือกผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีโดยการหย่อนบัตรเหมือนกับการเลือกผู้แทน นี่คือการเลือกตั้งโดยตรง ครั้งที่ ๘
และถือเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี ครั้งที่ ๒ หลังจากการปรับเปลี่ยนระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (mandat) จาก ๗ ปี มาเป็น ๕ ปี (du septennat au quinquennat) ซึ่งต้องการให้สอดคล้องกับระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของผู้แทนในรัฐสภา และลดปัญหาอันเกิดจากการเมืองระหว่างประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนละพรรคการเมือง ซึ่งฝรั่งเศสเรียกว่า cohabitation (หรือการอยู่ร่วมรัฐบาลกันระหว่างประธานาธิบดีและนายกฯ จากต่างพรรคการเมือง)
ประธานาธิบดีคนแรกซึ่งมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเท่ากับ ๕ ปีคือ ฌาร์ค ชิรัก ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งในสมัยแรกมาแล้ว ๗ ปี รวมแล้ว จึงดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น ๑๒ ปี
กลับมาเรื่องการเลือกตั้งทางตรง การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจากทางอ้อมมาเป็นทางตรงที่ใช้ในปัจจุบันนั้นเป็นผลจากการทำประชามติในยุคของนายพลชาร์ล เดอโกล ซึ่งได้ถามประชาชนฝรั่งเศสทั่วประเทศว่าต้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงหรือไม่ ปรากฏว่าผลของการลงประชามติในครั้งนั้นออกมาว่า เสียงข้างมากตอบว่า “ใช่”
นับตั้งแต่การปกครองในสาธารณรัฐที่ ๓ (le IIIe République) หรือตั้งแต่ปี ๑๘๗๕ จนกระทั่งปี ๑๙๖๒ ซึ่งอยู่ ภายใต้สาธารณรัฐที่ ๕ (ประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐที่ ๕ คือ นายพลชาร์ล เดอโกล ซึ่งก็เป็นคนสุดท้ายของสาธารณรัฐที่ ๔ เช่นกัน ส่วนสาธารณรัฐที่ ๕ ก็เริ่มต้นตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือปี ๑๙๕๘) การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมมาโดยตลอด ซึ่งผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีคือ กลุ่มของอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง ที่เรียกว่า “ collège de grands électeurs ”
ในช่วงต้นของสาธารณรัฐที่ ๕ (le Ve République) กลุ่มอภิ-ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงหรือ grands électeurs ตามรัฐธรรมนูญประกอบด้วย สมาชิกของสภาผู้แทนและวุฒิสภา รวมกับคณะผู้แทนจากเขตการปกครองโพ้นทะเล (Les assemblées des territoires d'outre-mer) และผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากท้องถิ่นของฝรั่งเศสในระดับ municipal รวมแล้วทั้งสิ้นเป็นจำนวนกว่า ๘๐๐๐๐ คน
แม้จะถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย แต่การปฏิรูปในปี ๑๙๖๒ ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการทำลายการกระจุกตัวของอำนาจที่เคยอยู่ในมือของนักการเมืองหรืออภิสิทธิ์ชนในชนชั้นปกครองเท่านั้น
ถ้าจะเปรียบเทียบกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐที่ ๓ และ ๔ ซึ่งกลุ่มอภิ-ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกประธานาธิบดี จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มสมาชิกของรัฐสภา คือสภาสูงและสภาผู้แทนแล้ว ก็นับว่าการกระจุกตัวของอำนาจในการตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีมีความคลี่คลายมาโดยลำดับ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ ความจริงแล้ว หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต นั้นเป็นผู้นำรัฐหรือประธานาธิบดีคนแรกของฝรั่งเศสที่ผ่านการเลือกตั้งโดยทางตรงในปี ๑๘๔๘ ภายใต้ระบอบสาธารณรัฐที่ ๒ ก่อนที่นโปเลียนเองจะทำการรัฐประหารในเวลาต่อมา (le coup d'Etat du 2 décembre 1851) และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบจักรวรรดิ์
ดังนั้น นายพลชาร์ล เดอโกล จึงไม่ใช่ประธานาธิบดีรัฐคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และถึงแม้ฝรั่งเศสจะกลับมาใช้ปกครองระบอบสาธารณรัฐอีกครั้ง ภายใต้สาธารณรัฐที่ ๓ หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิ์ แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยทางอ้อม ก็ถูกใช้มาโดยตลอดมาเป็นระยะเวลาอีกถึง ๘๗ ปี
ระบบการเลือกตั้งทางอ้อมที่ใช้มาเป็นเวลายาวนานจึงอาจสะท้อนถึงความพึงพอใจของผู้อยู่ในอำนาจที่ต้องการจะรักษาระบบของการเลือกตั้งโดยคนกลุ่มน้อยเอาไว้ แทนที่จะคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน
เพราะแน่นอนว่าการเลือกตั้งทางตรงจะทำให้นักการเมืองต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อชนะการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจออกไปยังประชาชน ย่อมเท่ากับว่าผู้ลงสมัครและพรรคการเมืองจำเป็นจะต้องเสนอหรือผลิตนโยบายที่น่าสนใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับเสียงจากประชาชนในวงกว้าง การเลือกตั้งทางตรงจึงเท่ากับเป็นการกระจายส่วนเกินทางเศรษฐกิจที่เคยกระจุกอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวออกไปยังกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายขึ้น
นอกจากนั้น การเลือกตั้งทางตรงนั้นหมายถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารสูงสุดกับประชนชนจะต้องเปลี่ยนไป เพราะประธานาธิบดีจะต้องสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือประชาชนจากทั่วประเทศ แทนที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประชาชนโดยอ้อมผ่านทางผู้แทนตามระบบเดิม
เราอาจมองว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงนั้นนำไปสู่การกระจายความเจริญในวงกว้าง และช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของศูนย์กลางและตัวเมืองที่อยู่ห่างไกลอีกทางหนึ่ง ควบคู่ไปกับการเลือกตั้งผู้แทนโดยปกติ
วันนี้ เมื่อหันกลับมามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกผู้นำโดยทางตรงนั้น ได้ทำให้ความหลากหลายของประชาชนทั้งในเชิงภูมิศาสตร์และสังคม กล่าวคือ ในด้านพี้นที่ อาชีพ การศึกษาและความสนใจ ถูกสะท้อนออกมาในความหลากหลายของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพ ทัศนคติและอุดมคติทางการเมือง รวมทั้งอาชีพของผู้สมัครแต่ละคน
ในจำนวนผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์และคุณสมบัติเข้ามาจนถึงรอบแรก ๑๒ คนนั้น เราเห็นผู้สมัครที่มาจากขั้วซ้ายตกขอบตั้งแต่คอมมิวนิสต์ อย่าง มารี-จอร์จ บุฟเฟ่ท์ (Parti Communiste) และโอลิเวีย เบอซองสโน (Ligue Communiste Révolutionnaire) รวมทั้งตัวแทนพรรคกรรมกร อาร์เลตต์ ลากีเย่ (Lutte Ouvrière) และขวัญใจเกษตรกรอย่างโจเซ่ โบเว่ (Gauche antilibérale)
อีกฝั่งหนึ่งก็มีขวาตกขอบที่ชูธงความเป็นชาติฝรั่งเศส เช่น ชอง-มารี เลอ เปน (Front National) และฟิลิปป์ เดอ วิลิเย่ส์ (Mouvement pour la France) ที่รายแรกก็ได้สร้างปรากฏการณ์เข้าไปชิงรอบสองกับชิรัก ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
รวมทั้งมีตัวแทนจากพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดมินิค วัวเนท์ (Les Verts) กับตัวแทนของกลุ่มอาชีพนักล่า ประมงค์ เฟเดอริก นิฮู (Chasse, Pêche, Nature et Traditions) ที่ค่อนข้างจะประกาศตัวเป็นฝั่งตรงข้ามกับพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และกำลังเป็นที่สนใจในสไตล์และนโยบายที่ประกาศออกมา
และตัวแทนของนายกเทศมนตรีอย่าง เจฮาร์ด ชิวาร์ดิ (Candidat des Maires soutenu par le Parti des Travailleurs) ที่น่าสนใจไม่แพ้กันในมุมมองของการสะท้อนกลุ่มอาชีพ
ทั้งหมดนี้เป็นผู้สมัครทางเลือก นอกจากผู้สมัครตัวเต็ง ๓ รายจากพรรคใหญ่ ที่จะขอพูดถึงในโอกาสต่อไป
ข้อมูลจาก
http://www.ladocumentationfrancaise.fr/dossiers/election-presidentielle-2002/president.shtml
http://www.presidentielle-2007.net/
ความคิดเห็น
อาจเป็นปีของประธานาธิบดีหญิงตามกระแสบ้างก็ได้