การเซ็นเซอร์ รัฐไทยและดอน กิโยเต้

ในยุคอินเตอร์เน็ต ข้อความเดินทางจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งในชั่วคลิก อีกทั้งเราสามารถเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารอย่างไร้ขอบเขต

อานุภาพของอินเตอร์เน็ตในเรื่องความเร็วและความกว้างไกล ด้วยต้นทุนต่ำนี่เอง ทำให้มันกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและกลายเป็นดาบสองคม

ในด้านหนึ่งของเหรียญ คนที่ใฝ่รู้สามารถค้นคว้าหาความรู้ หรือไขข้อสงสัยในเรื่องต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง อินเตอร์เน็ตสร้างชุมชนที่ยากจะกีดกันสมาชิกใหม่ หรือแทบเป็นไปไม่ได้ในการตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิก

แง่มุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก คือความน่าเชื่อถือของข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏบนเว็บไซต์มักดูน่าเชื่อถือ และดูจะกลายเป็นความรู้ใหม่ไปซะหมด

ความรวดเร็ว สะดวกและทันสมัยในการสื่อสาร จึงทำให้ความใหม่และสดหรือการอัพเดท รวมทั้งการจัดวางอย่างน่าสนใจ เข้ามาแทนที่ความละเอียดถี่ถ้วนและถูกต้อง และกลายเป็นจุดสนใจ รวมทั้งกลายเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินความน่าเชื่อถือของข้อมูล มากกว่าตัวเนื้อหาจริงๆ ของมัน

เพราะโลกวันนี้ ตัดสินที่ใครรู้ก่อนและเร็วกว่ากัน เป็นอันดับแรก

ยังไงก็ดี มีเพียงผู้ที่ไม่เข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีและคนโง่เท่านั้นที่เชื่อว่า “ทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ตเป็นความจริง” หรือเชื่อถือได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

จากสมมุติฐานดังกล่าว ผมเองเชื่อว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศ ในโลกนี้ (ถ้าไม่นับกรณีสุดขั้วอย่างประเทศเผด็จการและคอมมิวนิสต์) เซ็นเซอร์สิ่งที่ปรากฏบนอินเตอร์เน็ตหรือบล็อกเว็บไซต์ ถึงแม้อาจจะมีความพยายามควบคุมหรือจัดการกับข้อมูลโดยผ่านทั้งกลไกการตรวจสอบและกลไกตลาดก็ตาม

และเชื่ออีกว่า เป็นเพราะรัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่เข้าใจดีถึงอานุภาพของโลกาภิวัตน์ทางข้อมูล รวมทั้งความไร้เหตุผลของการกระทำดังกล่าว

เพราะการปิดเว็บไซต์ก็อุปมาได้เช่นเดียวกับความพยายามเอานิ้วไปอุดรูรั่วของน้ำที่มีอยู่นับร้อย เรียกว่ายิ่งอุดก็ยิ่งเหนื่อย และต่อให้ใช้นิ้วครบ ก็ไม่สามารถหยุดน้ำที่รั่วได้ มีแต่จะทำให้มันไหลออกรูอื่นเร็วขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม เรารู้ดีว่ารัฐหรือรัฐชาติในยุคปัจจุบันนั้นยังไม่สูญเสียความสามารถในการควบคุมภายในอาณาเขตของตนไปซะทีเดียว หรือว่าเส้นพรมแดนยังไม่ไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิงในยุคโลกาภิวัฒน์

ความพยายามปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ที่ไม่พึงประสงค์ในสายตารัฐ จึงแก้ปัญหาได้ในระดับเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น
เช่นตัวอย่างของการบล็อกเซิฟเวอร์ของโปรแกรมแคมฟร็อก

ทั้งนี้ ไม่ได้พูดถึงส่วนที่อยู่นอกพรมแดนธรรมชาติหรือพรมแดนสมมุติ (คือรัฐ) แบบเก่านั้น ที่รัฐในยุคใหม่ต้องสูญเสียความสามารถในการควบคุมไป ในยุคหลังสมัยใหม่ (postmodern)

ความลักลั่นทางข้อมูลและการรับรู้ จึงปรากฏให้เห็น เช่นในกรณีที่คนไทยในต่างแดนสามารถดูซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวปฏิวัติในเมืองไทย แต่คนไทยในประเทศไทยไม่สามารถรับสัญญาณได้

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก คือ การปิดหรือบล็อกเว็บไซต์ในเร็วๆนี้ ซึ่งทุกกรณีเกี่ยวโยงไปถึงกรณีหมิ่นฯ สถาบันพระมหากษัตริย์

อย่างที่กล่าวมาแล้ว การเซ็นเซอร์ซึ่งเคยทำหน้าที่ “ปิด” ได้ดีในอดีต ขาดพลังในการปิดกั้นและควบคุมลงไปอย่างมาก (ซ้ำยังทำให้เกิดผลในทางตรงข้ามในหลายๆ กรณี) แต่การเซ็นเซอร์ในกรณีของการหมิ่นฯ ก็ยังเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน จึงน่าสนใจไม่น้อยในการนำมาใคร่ครวญ

ที่น่าสนใจ คือ การเซ็นเซอร์นี้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง อาจจะเป็นเพราะในทัศนคติหรือความเข้าใจของคนทั่วไปในสังคมไทย การเซ็นเซอร์ในกรณีนี้ไม่ได้มีนัยแบบควบคุมหรือปิดกั้น (ตามความหมายของการปิดกั้นเสรีภาพ) แต่หากเป็นการป้องกันหรือ (ปราบ) ปรามเพื่อไม่ให้ทำในสิ่งอันไม่ควร

จึงไม่มีใครห่วงใยกับเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ของผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์เหล่านี้นัก

อย่างไรก็ตาม การเซ็นเซอร์อาจจะนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ข้อมูลที่ถูกสกัดกั้นนั้นเป็น “ข้อมูลที่ไม่บังควร (แต่เป็นจริง)” หรือ “ข้อมูลที่บิดเบือน” กันแน่

ถ้าหากรัฐยอมรับว่าพลเมืองของตนมีคุณภาพ (รวมทั้งมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ) และยอมรับในหลักการเรื่องเสรีภาพแล้ว การตัดสินถูกหรือผิดจึงต้องเป็นหน้าที่ของผู้รับสารหรือผู้รับข้อมูล แทนที่จะเป็นใครคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

การตัดสินใจแทนโดยรัฐ จึงเข้าข่ายดูถูกประชาชน รวมทั้งสะท้อนวิธีคิดแบบ “รัฐผู้เป็นเจ้านาย” หรือ “ประชาชนยังโง่” หรือแม้กระทั่งสะท้อนความเป็น “ระบอบที่แตะต้องไม่ได้”

ซึ่งถ้าหากสังคมยังอยู่ในวิธีคิดแบบหลังนี้ การสกัดกั้นสิ่งอันไม่อันควรหรือไม่พึงประสงค์ก็คงจะเป็นเรื่องยอมรับได้ ไปโดยปริยาย

ไม่ว่าจะมีกฎหมายในเรื่อง lèse majesté ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ควรจะถูกตั้งคำถามควรจะเป็นวิธีการจัดการกับปัญหาแบบหน้ามืดตามัวของรัฐ ในลักษณะที่ไม่ต่างกับดอน กิโยเต้ประดาบกับกังหันลม

สุดท้าย สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการเซ็นเซอร์โดยกลไกรัฐ นั้นคือการเซ็นเซอร์กันเองโดยประชาชน

ผมได้เห็นคนจำนวนไม่น้อย ถูกข้อหา “หนักแผ่นดิน” หรือ “เนรคุณชาติ” เพียงเพราะตั้งคำถามกับวิธีการจัดการของรัฐในลักษณะดังกล่าว

กรณีล่าสุดคือ การออกมาตั้งคำถามอย่างกล้าหาญในฐานะนักวิชาการของเพื่อนรุ่นน้องคนนึงเกี่ยวกับการห้ามวิพากวิจารณ์ประธานองคมนตรี ก็ไม่พ้นข้อหานี้จากผู้อ่านเช่นกัน

ผมเองถือว่าเป็นความอ่อนด้อยทางปัญญาและความงมงายส่วนบุคคล ที่ต้องโยนความผิดให้กับระบบการศึกษา และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์กันเองในลักษณะนี้ขึ้น

ถ้าหากเราไม่สามารถหลุดพ้นไปจากวิธีคิดแบบ “นาย-บ่าว” หรือ “เจ้า-ไพร่” ซึ่งรัฐหรือผู้ปกครองทำหน้าที่ด้วยความเมตตา กรุณาและถือเป็นบุญคุณ (โดยปฏิเสธวิธีคิดแบบโครงสร้างและหน้าที่แล้ว) เราก็คงจะไม่สามารถพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในประเทศไทยได้เลย

อีกทั้งคงต้องยอมถูกตราหน้าว่า “เพิ่งออกจากป่า” จากพวกฝรั่งต่อไป

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม