ถึงไม่มีสิทธิ์ออกเสียง ก็ขอไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผมคิดว่าคนที่อยู่ในต่างประเทศ คงไม่มีโอกาสใช้สิทธิ์ออกเสียงเพื่อลงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ (ถ้าผิดก็ต้องขออภัย) ถ้าไม่มีสิทธิ์นี้จริงๆ ก็รู้สึกเสียดาย และรู้สึกเป็นการส่วนตัวว่าไม่ยุติธรรมมาก เพราะผมเองก็ได้ร่วมแบ่งปันความสลดอาลัย คับข้องใจ หงุดหงิด ฯลฯ ต่อการจากไปของรธน.๔๐ การอุบัติของเหตุการณ์รัฐประหาร การวิบัติของการเมืองการปกครองไทย จนกระทั่งมาถึงการเกิดร่างรธน.นี้ ไม่แพ้และอาจจะมากกว่าหลายคนที่ประเทศไทย แต่นี่ก็ไม่ใช่ประเด็น

การแสดงความรู้สึกต่อ "ร่างรธน." นี้คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่แสดงความเห็นกับมันซิ ยากกว่าหลายขุม

จะออกความเห็นต่อร่างรธน.ได้อย่างดี ต้องอ่านตัวร่างฯ นี้ ลองเปรียบเทียบกับฉบับอื่น(โดยเฉพาะฉบับ ๔๐) ฟังความเห็นจากนักวิชาการ และอ่านร่างฯ อีกรอบ เปรียบเทียบกับฉบับอื่นอีกครั้ง ฟังความเห็นนักวิชาการอีก และทำซ้ำกระบวนการเหล่านี้อย่างไม่ย่อท้อ

ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับตาสีตาสา ทั้งที่ "หาเช้ากินค่ำและหาค่ำกินเช้า" และดูออกจะ "หาเหาใส่หัว" มากกว่า

แต่เรื่องที่ยากกว่าการทำความเข้าใจ และออกความเห็นต่อร่างฯ ก็คือ การปฏิเสธอย่างสง่างาม

ถึงจะรู้สึกว่าไม่อยากรับมันตั้งแต่ได้ยินชื่อ ก็พูดไม่ได้เต็มปากว่า "ผมไม่รับ" ถ้าหากยังไม่ได้ลงมือทำ ตามกระบวนการที่ว่ามาข้างบน ยิ่งจะป่าวประกาศให้คนมากกว่า ๑ คนขึ้นไปรู้ ว่าเราไม่อยากรับแล้วละก็ ก็ยิ่งไม่ควรไปใหญ่ ถ้าเราไม่รู้จักมันจริงๆ

ปฏิเสธเฉยๆ จึงไม่พอซะแล้ว เพราะมันดู "ราคาถูก" เกินไปในสังคมที่รัฐฯ และกลไกของรัฐฯ พยายามตั้งตนเป็นศัตรูกับ "ผู้ไม่รับร่างรธน."

ยิ่งกว่านั้นก็จะถูกตั้งข้อหา "กบฏขายชาติ" ได้แบบไม่มีสิทธิ์ตั้งทนาย ถ้าเป็นทนายอยู่แล้ว ก็จะยิ่งไปกันใหญ่

แต่...แต่ผมได้เห็นมากับตาตัวเอง ผู้ที่สามารถ "ปฏิเสธร่าง รธน. ได้อย่างสง่างาม"

"สง่า" เพราะปฏิเสธได้น่าฟัง ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ได้อย่างน่ายกย่อง และ "งาม" เพราะพวกเขาทำตามกิจและหน้าที่ที่ควรของตนรวมทั้ง "งาม" เพราะเหมาะสมแก่เวลาและแก่โอกาส

ลองไปอ่าน"แถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง” โดยเครือข่ายนักวิชาการทั่วประเทศ ที่นำโดยนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงพร้อมกันในหลายจุดของประเทศ



ร่วมกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง


ปฏิรูปการเมืองเป็นคำตอบที่สังคมไทยร่วมกันค้นพบกว่า 10 ปีมาแล้ว เพื่อตอบปัญหาที่รุมเร้าประเทศไทยในหลายด้าน ส่วนหนึ่งของคำตอบเชิงสถาบันคือรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่สังคมไทยมีส่วนร่วมในการสร้างขึ้นมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา โดยอาศัยกระบวนการร่างที่มุ่งจะฟังเสียงประชาชนมาแต่แรก จึงจัดให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.ขึ้น อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนอย่างแข็งขัน เพื่อผลักดันข้อเสนอของตนเข้าไปในรัฐธรรมนูญ

"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" จึงมีความพยายามจะเสนอการปฏิรูปการเมืองในเชิงสถาบันไว้หลายประการ และได้มีโอกาสใช้งานจริงเกือบ 10 ปี ทำให้สังคมเห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้าการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549 สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องแก้ไขข้ออ่อนของรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชน

แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำลายพัฒนาการทางการเมืองโดยหลักนิติธรรมลงไป และบัดนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้อำนาจเผด็จการหลังรัฐประหาร ก็กำลังได้รับการเสนอเพื่อการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้สังคมไทยหันกลับไปสู่การเมืองยุคเก่า ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทำให้สังคมไทยอ่อนแอจนไม่สามารถปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนานาชนิดที่ถาโถมเข้าสู่ประเทศของเราได้ และแน่นอนว่าทำให้การปฏิรูปการเมืองโดยผ่านกระบวนการร่วมกันของสังคมไทยต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง บุคคลและองค์กรที่ลงนามข้างล่างนี้จึงขอเสนอแก่สังคมไทยว่า เราควรร่วมมือกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยผ่านการลงประชามติหากมีการจัดขึ้นในภายหน้า

ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนเราว่า พลังที่ผลักดันให้การปฏิรูปการเมืองสัมฤทธิ์ผลได้นั้นมีอยู่ 2 ประการ คือพลังทางสังคมและพลังที่เกิดจากการจัดระบบการเมืองที่ตรวจสอบได้, ต้องรับผิด, และอยู่ในความควบคุมและถ่วงดุลของอำนาจที่หลากหลายและเป็นอิสระต่อกันพอสมควร แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้กลับสวนกระแสของพลังปฏิรูปการเมืองดังกล่าวนี้ แม้ดูเหมือนมีการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากกว่ารัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ซึ่งเท่ากับเพิ่มพลังของสังคมในการตรวจสอบและควบคุมถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ หากทว่าประสบการณ์ที่ได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาเกือบ 10 ปี พบว่าสิทธิเสรีภาพเหล่านี้มีแต่บนกระดาษ ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันในด้านปฏิบัติได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ, การมีสื่อที่เป็นของประชาชน, การรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง, หลักประกันสวัสดิการพื้นฐาน ฯลฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง

ปฏิรูปการเมืองต้องหมายถึงสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นจริงในทางปฏิบัติ มิฉะนั้นสังคมจะมีพลังกำกับควบคุมให้ระบบการเมืองดำเนินไปอย่างถูกทำนองคลองธรรมได้อย่างไร

ในด้านระบบการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ไว้วางใจประชาชนเจ้าของประเทศ จึงริบสิทธิเลือกตั้งองค์กรทางการเมืองไปจากประชาชน พร้อมกันกับทำให้ระบบการแต่งตั้งองค์กรอิสระทั้งหลายไม่ยึดโยงกับพลังทางสังคม แต่ไปผูกติดกับระบบราชการ ระบบเลือกตั้งมุ่งแต่จะไม่ให้เกิดพรรคใหญ่โดยไม่สนใจว่าจะทำลายความเป็นตัวแทนประชาชนของนักการเมืองลงไปมากสักเพียงใด การใช้อำนาจอธิปไตยก็เต็มไปด้วยความสับสน เพราะมีการก้าวก่ายอำนาจกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยเฉพาะจากฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหาร ในทางปฏิบัตินักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะอ่อนแอจนไม่สามารถริเริ่มนโยบายใหม่ใดๆ ได้ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบของระบบราชการเสียก่อน จึงสมกับที่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับขุนนางที่มุ่งจะรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตยกลับขึ้นมาใหม่

พวกเราดังมีรายนามข้างล่างนี้จึงมีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำประเทศไทยถอยหลังกลับไปหลายสิบปี อำนาจและสิทธิของประชาชนที่ได้มาด้วยการต่อสู้จนสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปนับไม่ถ้วน จะต้องถูกริบไปจนไร้ความหมาย จึงไม่ควรนำมาใช้กำหนดความสัมพันธ์ในรัฐของเรา ควรร่วมมือกันไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ และเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงสองประเด็นคือ

1) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน

2) รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งต้องจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการที่นักการเมืองไม่มีอำนาจเข้ามากำกับควบคุมการแก้ไข แต่ให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร.เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

แท้จริงแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดในโลกที่เป็นเอกสารสมบูรณ์พร้อมและสถิตสถาพรโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยกระบวนการทางสังคม นั่นคือเกิดสำนึกใหม่ในสิทธิเสรีภาพบางประการหรือบางมิติ จนทำให้ต้องมีการจัดความสัมพันธ์ในองค์กรทางการเมืองใหม่ สังคมที่เสรีคือเครื่องมือสำคัญที่ขาดไม่ได้ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมือง ไม่มีอำนาจ"บริสุทธิ์"ของทหารหรือการรัฐประหารใดๆ จะทำหน้าที่นี้แทนสังคมเสรีได้ การนำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองเดินหน้าต่อไปได้

โดยวิธีนี้เท่านั้นที่จะนำสังคมไทยกลับไปสู่ความสงบเรียบร้อย และกู้คืนเกียรติภูมิที่สูญเสียไปจากการรัฐประหารกลับมาได้อย่างถาวร โดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อดังเหตุการณ์ที่ผ่านมาอีก

พวกเราที่มีชื่อข้างท้ายนี้จึงใคร่ขอให้พี่น้องร่วมมือกันรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการลงประชามติ เพื่อผลักดันให้นำเอา"รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"กลับมาแก้ไขปรับปรุง ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยในภายหน้า โดยการใช้สีเขียวตองอ่อนเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน ท่านอาจติดแถบริบบิ้นสีเขียวตองอ่อนที่พาหนะของท่าน ติดแถบเขียวตองอ่อนกับเครื่องแต่งกาย ใช้แถบข้อมือสีเขียวตองอ่อน ติดธงเขียวตองอ่อน หรือวิธีอื่นใดที่ท่านอาจคิดขึ้นเองเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ร่วมกันดังกล่าว ทั้งนี้นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญปี 2540 กลับคืนมา พร้อมทั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย



********************************************************************************

ป.ล. ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ ขออนุญาตสงวนส่วนของรายชื่อนักวิชาการเอาไว้ ด้วยความเคารพอย่างสูง สามารถอ่านรายชื่อนี้ได้จากเว็บประชาไท

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม