หนัง (สือ (การ์ตูน)), ความรัก, ชีวิต, และการเมือง ๓ (ตอนจบ)









๓.
หนังที่ผมได้มีโอกาสดูในระยะหลัง และคิดว่าควรค่าแก่การถูกหยิบมาพูดถึงในที่นี้ มีด้วยกัน ๓ เรื่องคือ le scaphandre et le papillon (ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ) (2007), Persepolis (2007) และ The Bubble (2007)

เรื่องแรกนั้น หลายคนรู้จักดี เพราะเคยเป็นหนังสือขายดี ที่เขียนจากชีวิตจริงของอดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการของนิตยสาร Elle ที่ใครๆ เรียกว่า Jean-Do - ชองโด (มาจากชื่อ Jean-Dominique Bauby) ซึ่งวันนึงเกิดอาการช็อกฉับพลันและกลายเป็นอัมพาทไปทั้งตัว ทำให้ไม่สามารถขยับอวัยวะอะไรได้เลย นอกจากตาข้างเดียว (รวมทั้งพูดไม่ได้)

ท่ามกลางความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยและความไม่สามารถสื่อสาร นายชองโดพบว่าสองสิ่งในร่างกายของเขายังทำงานได้ดี นั่นคือ สมองและดวงตา เขายังพบอีกว่า ความทรงจำและจินตนาการของเขานั้น คือสิ่งมีค่าที่สุดที่ช่วยค้ำยันตัวตนอันเปราะบางของเขาที่ยังพอเหลืออยู่ไม่ให้ล้มครืนลงมา เขาจึงตัดสินใจใช้ดวงตา “เขียน” บันทึกความทรงจำและความรู้สึกขึ้น ด้วยความช่วยเหลืออย่างดีของเหล่าพยาบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา นายชองโดตายก่อนที่บันทึกจะได้รับการตีพิมพ์ไม่นาน

ได้ข่าวว่าหนังสือชุดประดาน้ำฯ เป็นหนังสือขายดีเล่มนึงในเมืองไทย ที่แปลมานานแล้ว โดยอ. วัลยา วิวัฒน์ศร

หนังเรื่องนี้สร้างโดยผู้กำกับอเมริกัน Julien Schnabel ที่ต้องการเคารพและคงความดั้งเดิมของวรรณกรรม ที่สร้างจากเรื่องจริงให้มากที่สุด จึงใช้นักแสดงฝรั่งเศสทั้งหมด ปรากฎว่าผู้กำกับได้รับรางวัลการกำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด ต้องยอมรับว่าทำได้ยอดเยี่ยม งดงามและกินใจมาก ผมเองได้เข้าใจความรู้สึกของการใส่ชุดประดาน้ำและการเป็นผีเสื้อจากการการนำเสนอที่น่าสนใจของผู้กำกับนี้เอง หวังว่าจะเข้าฉายที่เมืองไทยในอนาคต

เรื่องที่สองและสามนั้นแตกต่างออกไป เพราะมีการเมืองเป็นฉากหลังของเรื่อง ในขณะที่หนังทั้ง ๒ เรื่องไม่ใช่หนังการเมือง แต่เป็นหนังที่พูดถึง “ชีวิต” และ “ความรัก” ทั้งคู่ต่างกันก็ตรงที่ Persepolis คือ บันทึกการเดินทางและการเติบโตของ Marjane Satrapi หญิงสาวเชื้อสายอิหร่านที่มีตัวตนอยู่จริง (และเป็นผู้สร้างหรือผู้เล่าเองด้วย) The Bubble นั้นเป็นจำลอง “ชีวิตจริง” ในคราบของเรื่องแต่งและตัวละครสมมุติ ที่ใช้ความรัก โดยเฉพาะความรักแบบต้องห้ามระหว่างชายรักร่วมเพศเป็นหัวใจของการดำเนินเรื่อง

Marjane เลือกถ่ายทอดชีวิตของตนในรูปแบบของหนังสือการ์ตูนลายเส้นที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ก่อนหน้าที่จะนำมาดัดแปลงและสร้างเป็นหนังการ์ตูนอนิเมชั่นในชื่อเดียวกัน ร่วมกับเพื่อนผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Vincent Paronnaud

ปัจจุบัน หนังสือการ์ตูนลายเส้นได้รับการขนานนามว่า “ศิลปะแขนงที่ ๙” ผมคิดเอาเองว่าเพราะเป็นการผสมผสานศิลปะ ๒ แขนงคือหนังสือและภาพยนตร์เข้าด้วยกัน (ประเด็นนี้น่าสนใจ และน่าจะนำมาพูดคุยกันต่อในอนาคต)

Persepolis เล่าชีวิตและมุมมองตั้งแต่วัยเด็กของ Marjane ที่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางของเตหรานในช่วงปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงการปกครองอิหร่าน ซึ่งเริ่มขึ้นในปลายทศวรรษ 70 เธอเองเติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการเผชิญหน้าระหว่าง ๒ แนวคิด คือ อนุรักษ์นิยมและความคิดแบบก้าวหน้า (หมายถึงสังคมนิยมในบริบทนี้)

ด้วยความเป็น “หัวก้าวหน้า” ของสมาชิกครอบครัวแทบจะทุกคน ทำให้ Marjane เอง เติบโตขึ้นพร้อมกับความท้าทายที่รุนแรงกว่าเด็กสาวทั่วไป เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายใน ซึ่งเป็นบททดสอบตามธรรมชาติของช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่แล้ว เธอยังต้องค้นหาและค้นพบตัวตนของเธอเอง ที่สามารถประนีประนอมจิตวิญญาณเสรีกับระบอบเผด็จการกดขี่ ที่ในสังคมอิสลามนั้นถือว่าหญิงต้องแบบรับหนักกว่าชายเป็นสองเท่า

หนังสามารถใช้พลังของการ์ตูนได้อย่างยอดเยี่ยมในการถ่ายทอดความบริสุทธิ์และไร้ขีดจำกัดของจินตนาการวัยเด็ก รวมทั้งความงดงามของความรักระหว่าง Marjane กับครอบครัว โดยเฉพาะคุณยายของเธอที่ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะสอนให้เธอเรียนรู้ที่จะเติบโตขึ้นอย่างสง่างาม ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง”

ความงดงามของความรักและความเป็นปราชญ์ของยายนี้เองที่ทำให้ชีวิตท่ามกลาง “สงครามกลางเมือง” ของ Marjane ถูกถ่ายทอดให้เราเห็นอย่างสวยงามและมีอารมณ์ขัน

ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ทำให้กลับมานึกถึงการเมืองไทยไม่น้อย ถึงแม้ปัญหาในบ้านเรายังไม่รุนแรงอย่างอิหร่านในขณะนั้น แต่ความต้องการเสรีภาพทางความคิดและทางการแสดงออกที่รับรู้และรู้สึกจากหนัง ก็ทำให้รู้สึกหวงแหนและเห็นคุณค่าของเสรีภาพในวันที่มันถูกลิดรอนมากขึ้นไปเรื่อยๆ ในบ้านเรา

ตัวหนัง Persepolis เองก็ได้รับรางวัล Prix du Jury ex-aequo จากคานส์ในปีล่าสุดเช่นกัน

เรื่องสุดท้ายคือ The Bubble หนังรักระหว่างเกย์ชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่มีฉากหลังเป็นความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนา (ตามที่เราเห็นในข่าวแทบทุกวัน) ฟังเท่านี้ก็คงจะรู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้เล่นกับของร้อนตั้งไม่รู้กี่เรื่อง แต่ก็น่าแปลกใจว่าพอดูจบกลับรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ต่างจากหนังรัก “ปกติ” เรื่องอื่นๆ คือ พูดถึงความรักและชีวิต

(หรือความรักเป็นสิ่งสากลที่สุด ที่มนุษย์จะไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อใดก็รู้สึกร่วมกันได้?)

จะต่างกันก็ตรงที่อุปสรรคขวางทางรักคราวนี้ ไม่ใช่แค่พ่อตาหรือแม่สามีหัวดื้อ และไม่ใช่เส้นแบ่งความรวยความจนหรือม่านประเพณีธรรมดาๆ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งที่มีอายุเป็นร้อยปี

จะดู The Bubble ให้สนุก ต้องยอมปลดเปลื้องและวางกรอบและฝาครอบความคิดความเชื่อลงก่อนเข้าห้องฉาย ไม่อย่างนั้น ก็คงทนนั่งดูฉากรักแบบส่วนตัวระหว่างชายอกสามศอกที่ไม่หน่อมแน้มสองคนที่มีให้เห็นประปราย สลับกับการดำเนินเรื่องที่เสนอประเด็นปัญหาทางการเมืองไม่ไหว

ยังไงก็ตาม สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้คือ ชีวิตรักยากและซับซ้อนขึ้นอีกมากสำหรับชาวยิวอิสราเอลและอิสลามปาเลสไตน์ เพราะความรัก ชีวิตและการเมือง นั้นนอกจากแยกจากกันไม่ได้แล้ว ยังส่งผลกระทบและสร้างข้อจำกัดให้กันและกันอย่างลึกซึ้ง ถึงแม้ทั้ง ๓ สิ่งจะผูกพันและสัมพันธ์กันมากอย่างที่เรารู้สึกจากหนัง แต่มันก็ไม่เคยถูกตอกย้ำได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมขนาดนี้ ยิ่งในบริบทของสังคมที่เราอยู่ ซึ่งหลายคนก็ยังเชื่อว่าความรัก ชีวิตและการเมืองเป็นดินแดนเอกเทศที่สามารถแยกออกจากกัน (ไม่อย่างงั้น คนที่สนใจการเมืองก็จะไม่ถูกจัดประเภทเป็นคนกลุ่มหนึ่งไป)

การนำเสนอปัญหาความรักระหว่างชายยิวและอิสลามที่พบกัน (ตรงด่านตรวจของทหารและกลับมาเจอกันอีกครั้ง) ในเมือง Tel Aviv นี้ นอกจากทำให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างความรัก ความเชื่อ การดำเนินชีวิตและการเมืองแล้ว ยังทำให้เห็นว่ามิตรภาพระหว่างคนนั้น มีความสำคัญมากต่อการดำเนินชีวิตในระดับปัจเจกหรือคนๆ นึง

หนังเรื่องนี้กำกับโดย Eyton Fox (ที่ติดตามครอบครัวไปใช้ชีวิตในอิสราเอลตั้งแต่อายุ ๒ ขวบ) และเคยสร้างชื่อจากหนังเรื่อง Tu marcheras sur l’eau หนังได้รับรางวัลหลายรางวัลจากเทศกาลต่างๆ ส่วนประกอบที่ผมชอบมากที่สุดในหนังคือ ตัวละครหลักตัวเดียวที่ไม่ได้เป็นโฮโม ซึ่งเป็นตัวละครหญิงที่น่ารักและเป็นธรรมชาติมาก (เป็นเรื่องตลก ที่กลับประทับใจตัวละครที่ไม่ใช่โฮโมคนเดียวในหนังรักของโฮโม)

ไม่รู้ทำไม แต่ดูเรื่อง The Bubble แล้วทำให้นึกถึงที่มาร์ค ทเวนเคยกล่าวไว้ว่า Truth is stranger than fiction

ความคิดเห็น

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
เป็นเรื่องยากมากที่จะแสดงความเห็นถึงสิ่งที่เราไม่เคยดู แต่ในแง่ที่เป็นคนชอบดูหนังเหมือนกันก็คิดอยากจะแสดงความเห็นหน่อยนึงเกี่ยวกับ "อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย" ทำไมจึงไม่โรแมนติกเหมือนหนังเกาหลีที่เข้ามากุมใจวัยหนุ่มสาวของเรา ไม่ตื่นเต้นเหมือนหนังฮอล์ลีวูดหรือให้แง่คิดเกี่ยวกับชิีวิตแบบยุโรป (จากที่เล่าเลยอยากดูหนังเรื่องชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ แต่หากดูแล้วอาจจะเกิดการเสียน้ำตาได้ ทำไมชีวิตจึงได้เศร้าขนาดนั้น)

หนังไทยบนความสนใจของผู้สร้างคือต้องการให้ผู้ชมดูคลายเครียดและทำเงิน ได้แง่คิดบ้างเล็กน้อยพอไม่ให้น่าเกลียด base on true belief แบบไทยๆ ไม่ว่าจะหนังผี หนังฮีโร่ (ของท่านมุ้ยเป็นต้น) หนังตลกเสียดสีชีวิต

อันที่จริงก็ไม่ได้ดูหนังไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ขนาด"แฟนฉัน"ที่ว่าฮิตยังไม่ได้ดูเลย

และถึงแม้จะชื่นชมและได้ดูหนังจา พนม (ที่ก็ดังไปหลายประเทศทีเดียว) แต่ก็ไม่ค่อยอยากดูหนังไทยนักเพราะหนังไทยย่ำอยู่กับสิ่งที่คาดเดาได้
(แต่ที่ต้องชมอีกเรื่องก็ชัดเตอร์ ที่บทหนังทำได้ดีมาก คาดเดาไม่ได้ รวมทั้ง production ที่มีคุณภาพ)

วงการหนังไทยอยู่ในแวดวงที่แคบ คนที่ทำก็มักจะดังมาจากงานโฆษณาทีีทำหนังสวยเพราะได้เปรียบด้าน production และนี่ก็เป็นศิลปะทางด้านภาพที่คนไทยสามารถทำได้ดี หนังสวยแต่เนื้อเรื่องมักอ่อน (แอ)

สิ่งที่หนังไทยขาดคือคนเขียนบทหนังที่มีฝีมือ (เคยคุยกับคนวงใน) บุคคลากรด้านนี้ขาดทั้งคนและขาดการพัฒนาทักษะอย่างถูกต้อง มีน้อยคนมากที่เขียนบทหนังได้ดี ต่างชาติเขามีการเรียนการสอนด้านนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยทำหนังไม่ถึง

ทั้งที่เราก็มีเรื่องความรัก ชีวิตและการเมืองที่เข้มข้นไม่แพ้ชาติไหนๆเลย อิ อิ
noka กล่าวว่า
ขออนุญาตเจ้าของบทความเอาเรื่องที่เขียนบางส่วนไปอ้างอิงในงานเขียนของตัวเองเล็กน้อย เพราะมันมีประเด็นที่อยากจะกล่าวถึง ขอบคุณค่ะ

บทความที่ได้รับความนิยม