การเมือง เรื่องของ (พวก) กู

จะว่าไป เราส่งท้ายปี ๒๕๔๙ และต้อนรับปี ๒๕๕๐ กันอย่างน่าเศร้า ด้วยข่าวเหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นประมาณเวลาสิบแปดนาฬิกาในประเทศไทย

ไม่ว่ากลุ่มบุคคลนี้จะมีมูลเหตุจูงใจอะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำอันเลวร้ายนี้ ผมเห็นว่าผลแห่งการกระทำในขั้นต้นก็เพียงพอที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์เจตนาอันเลวร้ายของพวกเขา ซึ่งสมควรที่จะได้รับการประณามอย่างทันท่วงทีและสาสมเช่นกัน

เป็นเรื่องน่าละอายอย่างมาก ที่ได้รับรู้ว่าในสังคมไทยมีบุคคลที่ไร้ซึ่งมโนธรรมและความคิดเช่นนี้อยู่ด้วย

แน่นอน การกระทำนี้หวังผลทางการเมือง และพุ่งเป้าหมายสำคัญไปที่รัฐ โดยมีพลเมือง เจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของรัฐเป็นเหยื่อ เมื่อพิจารณาจาก “กาละ” และ “เทศะ” ของเหตุการณ์นี้แล้ว นี่คือการกระทำที่อุกอาจ และต้องการทำลายความสงบในวงกว้างและในเชิงลึก

“กว้าง” เพราะเหตุการณ์ถูกวางแผนให้เกิดขึ้นในทุกมุมของกรุงเทพฯ ศูนย์กลางการปกครอง นอกจากนี้ ยัง “กว้าง” ในแง่ของขอบเขตของผลกระทบและข่าวที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

“ลึก” เพราะกาละ ที่ว่า คือ ช่วงเวลาที่สังคมโดยรวม (ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นสังคมโลก) เห็นว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาของความสุข

นี่คือช่วงเวลาที่คนทั่วโลกร่วมกันยินดีและเป็นประจักษ์พยานต่อปรากฏการณ์สำคัญ นั่นคือ การมีชีวิตอยู่รอดผ่านพ้นข้อจำกัดสำคัญของการดำรงอยู่ นั่นคือ “เวลา” หรือ “สภาวะของการแก่” ของสิ่งมีชีวิตและของโลก หรือในอีกด้านหนึ่งของเหรียญ คือ "การก้าวไปข้างหน้า" นั่นเอง

จึง “ลึก” ในแง่ของความรู้สึก โดยเฉพาะของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นั่นคือญาติและผู้ใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือ บุคคลกลุ่มนี้กำลังคุกคามสิทธิที่พื้นฐานที่สุด นั่นคือ “สิทธิของการมีความสุข” ทั้งในระดับบุคคลและสังคม

เมื่อคณะปฏิวัติ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาและได้แต่งตั้งคณะรัฐบาลรักษาการณ์นี้ขึ้นมาปกครองประเทศ ประชาชนทุกคนถูกตบหน้าอย่างแรง เพราะคณะปฏิวัติได้ปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ไม่ต่างอะไรกับการบอกกันซึ่งหน้าว่า “การเมืองคือเรื่องของพวกกู” โดยการดึงอำนาจออกจากมือประชาชนมาเก็บไว้ในมือตน

ประชาชนถูกตัดขาดจากกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองทุกระดับ และการกระทำอันน่าเศร้าคือ การออกแบบขั้นตอนของกระบวนการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีคณะปฏิวัติ (ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็ได้) เป็นกลไลสำคัญกลไกเดียว (การมีสิทธิออกเสียงในประชามติในขั้นตอนสุดท้ายที่รัฐธรรมนูญร่างเสร็จแล้วนั้น ถือว่าไม่ต่างอะไรกับการมัดมือชกให้ต้องเลือกรัฐธรรมนูญนี้)

วันนี้ คนกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิด ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “การเมือง เรื่องของกูเหมือนกัน” โดยส่งข้อความไปที่ผู้ผูกขาดอำนาจในตอนนี้โดยตรง

เพราะเราอาจตีความการท้าทายอำนาจรัฐ ว่าเป็นความพยายามนำไปสู่การต่อรองทางการเมือง

ในสภาวะที่ประชาชนถูกตัดขาดจากการเมืองอย่างเช่นเวลานี้ เราก็เป็นได้แค่เพียงเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ

ในที่สุด เราก็กลับมาค้นพบว่าทุกคนเป็นเพียงหมากของเกมส์การเมืองแบบเก่าๆ โดยไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่ารู้สึกเสียใจและโศรกเศร้า

ไม่รู้เมื่อไหร่จะถึงวันที่ เราเองมีสิทธิตะโกนกลับไปว่า “การเมือง ก็เรื่องของพวกกูเหมือนกัน”

ความคิดเห็น

noka กล่าวว่า
จาก หนังสือพิมพ์ Post Today มี เว็บน่าสนใจของนักข่าวอิศราซึ่งนำเสนอข้อมูลที่หลายคนกำลังให้ความสนใจทั้งการเมืองและปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการป่วนกรุง)
www.tjanews.org บางคนอาจรู้จักเว็บนี้แล้ว ก็แนะนำไปละกัน
Mr.Bhumindr BUTR-INDR กล่าวว่า
ผมชอบคำกล่าวสองคำนี้มากครับ
“กว้าง” เพราะเหตุการณ์ถูกวางแผนให้เกิดขึ้นในทุกมุมของกรุงเทพฯ ศูนย์กลางการปกครอง นอกจากนี้ ยัง “กว้าง” ในแง่ของขอบเขตของผลกระทบและข่าวที่ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก

“ลึก” เพราะกาละ ที่ว่า คือ ช่วงเวลาที่สังคมโดยรวม (ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นสังคมโลก) เห็นว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ช่วงเวลาของความสุข
ณ เวลาที่เรารอคอยการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงที่เราค่อนข้างคาดหวังกับเหตุการณ์และรายละเอียดแวดล้อมต่างๆ ผมเองและอีกหลายคนกำลังนั่งดูเหตุการณืที่เกิดขึ้นรอบโลก อาทิเช่น การเฉลิมฉลองไฟที่นครซิดนี่ การทำบุญใหญ่ที่โตเกียว งานเฉลิมฉลองของกรุงโซล และปิดท้ายด้วยข่าวระเบิดที่กรุงเทพฯ
เหมือนกำลังนั่งดูละครหรือหนังหักมุมเมื่อผมนั่งดูข่าว ระหว่างประเทศผ่าน TF1 เหมือนตอนจบของละครที่หักมุมด้วยความแตกต่างของความรื่นเริงและข่าวร้าย
ตอนนี้ผมชักเบื่อเต็มทนกับการหาตัวการผู้กระทำผิด บ้างก็ว่ากลุ่มอำนาจเก่า บ้างก็กลุ่มใหม่ บ้างก็กลุ่มภาคใต้ พวกมึงพวกกูพวกมัน
ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ Intellectually ignorant ในมุมมองเกี่ยวกับการตัดขาดจากกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองทุกระดับ และ การออกแบบขั้นตอนของกระบวนการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีคณะปฏิวัติ เป็นกลไลสำคัญกลไกเดียว โดยถือว่าไม่ต่างอะไรกับการมัดมือชกให้ต้องเลือกรัฐธรรมนูญนี้ ความจริงเราไม่น่าเรียกตัวเองว่าประชาธิปไตยมานานแล้ว

บทความที่ได้รับความนิยม