คิดเรื่องร้อนตอนสาดน้ำ

"โลกร้อน" เป็นประเด็นที่ร้อนในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม เพราะข้อมูลและสถิติทางวิทยาศาสตร์เผยให้เห็นว่าสภาวะโลกร้อนกำลังเข้าขั้นวิกฤต และถึงเวลาที่ต้องทำอะไรซักอย่างกับปัญหานี้

ที่บอกว่า "เป็นประเด็นร้อนในประเทศอุตสาหกรรม" นั้น ก็เพื่อเลี่ยงไม่ใช้คำว่า "ประเทศพัฒนาแล้ว" ซึ่งเป็นการสะท้อนว่ามีอีกกลุ่มคือ "ประเทศกำลังพัฒนา" เพื่อไม่ให้ถูกข้อหาเอนเอียงหรือมีอคติตามอย่าง "ฝรั่ง"

ยังไงก็ตาม หากใช้เกณฑ์ด้าน "ความตระหนัก" แล้ว ก็อาจใช้การแบ่งแบบ "พัฒนา-กำลังพัฒนา" ได้ โดยประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นจะต้องตกอยู่ในกลุ่มหลัง

เพราะความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมในบ้านเรานั้น ช่างล้าหลังและเข้าขั้น "ด้อยพัฒนา" เสียด้วยซ้ำ

เป็นเรื่องน่าตกใจที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับปัญหานี้ เหตุผลสำคัญอาจจะเป็นเพราะสื่อไม่ค่อยพูดถึง รวมทั้งรัฐบาลดูจะไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เอาซะเลย

อีกส่วนนึง ถึงอากาศจะร้อนขึ้น ร้อนขึ้น ทุกวันในประเทศไทย แต่พี่น้องชาวไทย คงจะชินกับอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปีในช่วงชีวิต จนลืมคิดไปว่านี่คือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ "ผิดธรรมชาติ"

ทำไมสื่อและรัฐบาลจึงไม่ได้ให้ความสนใจ? เป็นคำถามที่น่าสนใจ และอยากให้ลองคิดกันเล่นๆ

ปัญหาความไม่ใส่ใจ อาจอธิบายในเชิงสังคมและวัฒนธรรมได้พอสมควร เพราะในประเทศที่ไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์สูตรเหมือนประเทศไทย อย่างประเทศในทวีปยุโรปหรืออเมริกา ปรากฎการณ์ "ผิดธรรมชาติ" แสดงให้เห็นชัดเจนจากภาวะอากาศร้อน-เย็นที่กลับตาลปัตร นอกเหนือจากความแตกต่างของอากาศในแต่ละฤดูกาลและภายในฤดูกาลที่ชัดเจนอยู่แล้วและทำให้พวกเขาต้องใส่ใจกับภูมิอากาศตลอดเวลา

ส่วนในทางการเมือง โดยธรรมชาติของตัวปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องไม่คุ้มทุนและเป็นไปไม่ได้ในทางการเมือง เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขในระดับ collective ต้องอาศัยความสนใจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถทำให้เห็นผลในระยะสั้น จึงไม่น่าแปลกที่นักการเมืองไม่ชอบพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม

แต่ในสังคมที่ประชาชนให้ความสนใจกับการเมือง และนักวิชาการมีบทบาทสูงในการชี้นำสังคม ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้รับการสะท้อนมากกว่าสังคมที่ประชาชนตัดขาดจากการเมือง

ยังไงก็ตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมิติที่ซับซ้อนและหลากหลายขึ้นไปอีก เพราะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคมและการเมืองในหลายระดับ

ผมคงไม่มีวิธีอธิบายประโยคที่ผ่านมาได้ดีเท่ากับการนำบทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนในเรื่องนี้เอาไว้เร็วๆ นี้ มาให้อ่านและคิดตามกัน

----------------------------------------------------------------------------------
การเมืองกับอนาคตสิ่งแวดล้อม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550

ผมอยู่ในเมืองที่ถูกประกาศเป็นเขตวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุที่หมอกควันปกคลุมทั่วหุบเขา เพราะอากาศกดให้นิ่งแน่อยู่อย่างนั้น

หมอกควันนั้นมาจากไหน? เท่าที่จับความได้ เขาว่ามาจากไฟไหม้ป่าในประเทศไทย, ลาว, และพม่า มีการรณรงค์ในเมืองของผม ให้ชาวบ้านเลิกกำจัดขยะด้วยการเผา และถึงขนาดต่อต้านการขายหมูกระทะซึ่งมีอยู่เกลื่อนเมือง

ก็จริงนะครับว่า ในบรรยากาศที่ถือว่าวิกฤตเช่นนี้ทำให้เกิดควันน้อยลงน่าจะดีแน่ เพราะมันลอยไม่พ้นแอ่งนี้ไปได้ แม้เมืองนี้มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ แต่เราไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าหมอกควันที่ปกคลุมเมืองนี้มาจากไฟป่าสักกี่เปอร์เซ็นต์, เผาขยะกี่เปอร์เซ็นต์, หมูกระทะกี่เปอร์เซ็นต์, ครัวเรือนอีกกี่เปอร์เซ็นต์

ที่ผมอยากรู้มากที่สุดก็คือ ที่มาจากไอเสียรถยนต์กี่เปอร์เซ็นต์ และในเขตเมืองซึ่งสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุด เกิดจากการที่ตึกสูงดักเอาหมอกควันไว้อีกกี่เปอร์เซ็นต์

ที่ผมอยากรู้ก็เพราะในบรรดามาตรการต่างๆ ที่เสนอแนะกันในช่วงนี้ไม่เห็นมีมาตรการอะไร ที่กระทบต่อชีวิตของคนมีกะตังค์เลยสักอย่าง นอกจากให้อยู่ในบ้าน (คงในห้องแอร์และฟอกอากาศ) ทำไมเฉพาะคนจนๆ คนชายขอบเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านซึ่งขจัดขยะ ในสภาพที่ขาดแคลนแรงงานได้ถูกที่สุดด้วยการเผา หรือชาวเขาซึ่งเป็นแพะให้แก่การทำลายป่าแทนนายทุน และข้าราชการทุจริตตลอดมา

แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้าอากาศร้อนอบอ้าวก็จะพยุงให้หมอกควันเหล่านี้ลอยพ้นๆ หุบเขาของเราไปเสียที โดยไม่มีใครวางแผนสำหรับอากาศกดในช่วงหน้าแล้งของปีต่อไปอีก ไม่ว่าระบบขจัดขยะใหม่ที่เป็นไปได้แก่ชาวบ้าน, การขนส่งสาธารณะที่ต้องปรับปรุงเพื่อลดปริมาณของรถยนต์บนท้องถนน, การจัดการป่าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น, หรืออะไรอื่นที่จะช่วยลดวิกฤตลง

เงื่อนไขอันแรกที่ขาดไม่ได้ในทุกสังคม ซึ่งต้องการมีสมรรถภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมคือ ความเป็นธรรมในสังคม ตราบเท่าที่เมืองไทยไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นได้ ก็จะมีคนเล็กคนน้อยที่จะถูกชี้นิ้วว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤตสิ่งแวดล้อมตลอดไป และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ในขณะเดียวกับที่ผมเผชิญวิกฤตจากหมอกควัน ผู้เลี้ยงปลากะชังในเขตติดต่อระหว่างอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ก็ประสบความหายนะเป็นครั้งที่สองในรอบปี ปลากะชังที่เลี้ยงไว้ตายไม่เหลือ เพราะออกซิเจนในน้ำลดลงอย่างกะทันหัน แต่ละรายลงทุนตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท หลายรายคงเป็นเงินกู้เพราะเพิ่งประสบหายนะจากน้ำท่วมมาหยกๆ

อะไรคือเหตุที่ทำให้น้ำขาดออกซิเจนกะทันหัน เหตุนั้นไม่เป็นธรรมชาติแน่ แต่ล่วงมาหลายวันแล้ว หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้ระดมกำลังที่จะค้นหาสาเหตุให้ได้ ชาวบ้านเชื่อว่าโรงงานผงชูรสแห่งหนึ่งปล่อยน้ำเสีย ซึ่งมีสารเคมีบางชนิดผสมอยู่ลงมา ชาวบ้านพยายามจะเข้าไปดูภายในโรงงานแต่ไม่ได้รับอนุญาต ส่วนหน่วยราชการไม่ได้มีความพยายามจะทำอย่างเดียวกัน และกว่าจะเข้าไปสำรวจโรงงาน ก็จะไม่มีพยานหลักฐานอะไรหลงเหลือให้ศึกษาวิเคราะห์อีกแล้ว

เงื่อนไขประการที่สองซึ่งขาดไม่ได้ในสังคมที่ต้องการมีสมรรถภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมก็คือ ต้องมีข้าราชการที่สุจริต และเป็นกลาง (integrity) และมีฝีมือในหน้าที่การงาน (competent) เพื่อทำให้เกิดรายงานวิเคราะห์ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม ที่เที่ยงธรรม, รอบด้าน, และบ่งบอกให้เห็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน

ข้าราชการไทยเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ก็จะเห็นได้จากกรณีทำนองเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนทั่วประเทศ

กรณีเหมืองคลิตี้ ข้าราชการเป็นผู้อนุมัติการทำเหมืองด้วยเทคโนโลยีที่อันตรายเช่นนั้นเอง เช่นอนุมัติให้กักตะกอนดินด้วยเขื่อน ซึ่งพิสูจน์มาหลายแห่งทั่วโลกแล้วว่าไม่ได้ผล เนื่องจากนายทุนย่อมไม่เพิ่มต้นทุน ด้วยการสร้างเขื่อนที่แข็งแรงทนทานเกินอายุสัมปทาน

ครั้นเกิดภัยพิบัติขึ้น ผู้รับเคราะห์คือคนชายขอบที่ไม่มีปากมีเสียงในสังคมอยู่แล้ว (ความเป็นธรรมในสังคม) ราชการก็ไม่เคยระบุอย่างชัดเจนว่า สารตะกั่วที่ปนเปื้อนในน้ำเป็นความรับผิดชอบของใครกันแน่ แม้แต่มาตรการเยียวยาผู้เสียหายก็เกิดขึ้นได้เพราะคำพิพากษา ไม่ใช่มาตรการของราชการโดยตรง

กรณีแคดเมียมที่จังหวัดตากก็ทำนองเดียวกัน

กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะกับเหยื่อหลายสิบราย

กรณีควันพิษที่มาบตาพุด ฯลฯ

เราหากรรมการที่เที่ยงธรรมไม่ได้ เพราะราชการปฏิเสธหรือไม่มีกึ๋นจะเป็นกรรมการที่เที่ยงธรรมได้

ผลที่สุด ธุรกิจอุตสาหกรรม โดยเฉพาะของคนที่มีเส้นสายทางการเมือง ก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมซึ่งตัวก่อขึ้นเลย

กรณีที่เกิดขึ้นเหล่านี้มีรายงานในสื่อประปราย แต่แทบไม่มีกรณีใดที่สื่อลงทุน เข้าไปเจาะเรื่องราวอย่างละเอียด สาธารณชนผู้รับสื่อให้ความสนใจอย่างผิวเผินกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่าอยู่ห่างไกลตัว และไม่มีสำนึกว่า ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมนั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงกันกับทุกส่วนของระบบนิเวศ เช่นในระยะยาวสารตะกั่วที่ปนเปื้อนลำห้วยที่คลิตี้ ย่อมซึมลงสู่อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำแม่กลองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แคดเมียมในข้าวและพืชเกษตรอื่นๆ ย่อมแทรกเข้ามาในตลาดอาหารบ้างเป็นธรรมดา ปลาในอ่าวไทยที่ได้รับสารพิษ (บางคนว่าคือปรอท) จากโรงงานแถบมาบตาพุดจะถูกเจี๋ยนแล้ววางบนโต๊ะอาหาร ฯลฯ

เงื่อนไขอย่างที่สามซึ่งสังคมที่ต้องการมีสมรรถภาพในการจัดการสิ่งแวดล้อมต้องมีก็คือ สาธารณชนที่มีสำนึกในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็ง ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะสื่อ และจะให้ผลตามมาซึ่งการจัดองค์กรด้านผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ ในการควบคุมบังคับทุน

เงื่อนไขทั้งสามอย่างคือ ความเป็นธรรมในสังคม, ข้าราชการที่สุจริตเที่ยงธรรมและมีความสามารถ, และสำนึกของสาธารณชนล้วนอ่อนแอในสังคมไทย

ดังนั้น ธุรกิจย่อมลดต้นทุนการผลิตหรือแสวงกำไรเพิ่มขึ้น ด้วยการก่อภัยพิบัติทั้งในระยะสั้น และระยะยาวแก่สิ่งแวดล้อมต่อไป เพราะธุรกิจรู้ดีว่าตัวจะไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อและแก่สังคม ในกรณีร้ายแรงจริง รัฐบาลก็จะนำเงินภาษีเข้ามาเยียวยาเหยื่อ เพื่อให้เรื่องยุติลงโดยเร็ว

ท่ามกลางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ไม่แข็งแรงนัก เรายังขาดเงื่อนไขที่จะทำให้กฎหมายเหล่านั้นมีผลใช้บังคับได้จริง ในทางตรงกันข้าม หากเงื่อนไขทั้งสามเข้มแข็งขึ้นในสังคมไทย การก่อภัยพิบัติแก่สิ่งแวดล้อมกลับเป็นต้นทุนอันหนักแก่ผู้ทำธุรกิจ จะไม่มีใครทำเหมืองตะกั่วอย่างสะเพร่า เพราะจะทำให้ขาดทุนยับเยิน ไม่มีใครทำเหมืองอะลูมิเนียม โดยไม่ระวังการรั่วไหลของแคดเมียม เพราะจะทำให้กำไรหดหายไปแทบหมด และผู้บริหารอาจถูกผู้ถือหุ้นใหญ่ปลด เช่นเดียวกับผงชูรส, โรงกลั่นน้ำมัน, และอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษอื่นๆ

แม้แต่การทำเหมืองโพแทชที่ต้องระมัดระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ เพราะอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายอย่างหนักได้ ก็อาจเป็นวิธีขุดโพแทชวิธีอื่น

ประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจอาจปรับตัวเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่ขาดทุน ยังทำกำไรเหมือนเดิม หรือในบางกรณีมากกว่าเดิมอีกด้วย หากสังคมนั้นมีเงื่อนไขทั้งสามพร้อมมูล

อนาคตของสิ่งแวดล้อมในเมืองไทยนั้นน่าเป็นห่วง ไม่ใช่เพียงเพราะพื้นที่ป่าลดลง, น้ำจืดลดลง, น้ำท่วมบ่อย, ภัยแล้งบ่อย, ฯลฯ เท่านั้น แต่เพราะเมืองไทยไม่มีเงื่อนไขทั้งสามอย่าง ซ้ำไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลปัจจุบันหรืออนาคตจะกล้ารับความเสี่ยงทางการเมือง ในการสร้างให้เกิดเงื่อนไขทั้งสามขึ้นในอนาคตอันใกล้
--------------------------------------------------------------------------------

ความคิดเห็น

noka กล่าวว่า
ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หลายๆคนรู้ว่าไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่ายๆเพราะเกี่ยวกับเงินทุนมหาศาล ทั้งการทำวิจัยเรื่องผลกระทบ การจัดตั้งเครื่องมือ การวางแผน (ล่วงหน้า)เพื่อป้องกัน

แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือทำไม่ได้

ประเทศที่มีการคอรับชั่นสูงอย่างเมืองไทย เรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมคงเป็นเหมือนอาหารอันโอชะ เพราะไม่เคยเห็นการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนแต่รู้ว่ามีงบแก้ปัญหา!

อย่างโรงงานต่างๆ เท่าที่ทราบคือรัฐมีการส่งคนไปตรวจสอบ และเร่งให้โรงงานแก้ปัญหา (ทำงานบ้าง) เช่นเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย แต่เมื่อติดตั้งก็ไม่เห็นเคยเช็คอีกว่าเจ้าเครื่องนั้นยังทำงานได้ดีทุกปีหรือเปล่า อืม...ก็แค่นั้น

แค่เรื่องที่ควบคุมได้ยังเหลาะแหละ ไม่ต้องพูดถึงปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้ความต่อเนื่อง ทุ่มเท

เมื่อถึงวิกฤติเข้าถึงตัวผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเมื่อไหร่ คงทำได้แค่แหกป้างร้องให้ต่างชาติยื่นมือเข้าช่วยเหมือนหลายๆเรื่องที่เคยทำ แล้วงุบงิบกินส่วนแบ่ง กินไม่พอกันซักที

อย่างนี้ต้องมีหน่วยงานที่ไม่ได้ส่วนแบ่ง (มีมั้ย)คอยกัน คอยปกป้อง สงสัยต้องรอชาติหน้า...

ส่วนสื่อออกข่าวไปแล้วอาจโดนใบสั่ง! ดูอย่างเมกาดิ มีการเตือนว่าคุณ(แปลสุภาพ)อยู่เฉยๆดีมั้ย ถ้าไม่อยากเจ็บ!
(อันนี้จากหนัง....)

บทความที่ได้รับความนิยม