50 ปีอียู

ในวันที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ สหภาพยุโรปจะมีอายุครบ 50 ปี ถ้าเทียบอายุขัยกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนแล้ว เราอาจเรียกเธอว่า “คุณน้าหรือคุณป้าอียู” ได้ ด้วยความเชื่อส่วนตัวของผมว่าตำแหน่ง “ป้า” น่าจะฟังดูใจดีกว่า จึงขออนุญาตเรียกเธอว่า “คุณป้าอียู” (แต่ขอให้ระวัง อย่าเพี้ยนไปเป็น “อีคุณป้ายู” หรืออย่างอื่น)

ด้วยเทคโนโลยีโบท็อกและศัลยกรรมพลาสติกทั้งหลายในปัจจุบัน ถึงคุณป้าอียูจะปาเข้าไป 50 แต่เธอก็ยังฮอต (เป็นที่นิยม) เพราะเธอแผ่ขยายอาณาเขตกว้างขวางออกไปไม่เว้นแต่ละปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณป้าก็เพิ่งเปิดรับสมาชิกอันดับที่ 26 และ 27 คือ โรมาเนียและบุลกาเรีย

ความจริง เธอก็ไม่ได้ใช้ชื่อ “อียู” หรือ “สหภาพยุโรป” มาตั้งแต่เกิดหรอก และเธอก็ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตา ในแบบที่เรามาเพิ่งรู้จักเธอเมื่อประมาณไม่ถึง 10 ปีนี้ด้วย

แรกเริ่มเดิมที เมื่อผู้นำจาก 6 ประเทศคือ ฝรั่งเศส เยอรมันตะวันตก อิตาลี ลักแซมเบิร์ก เนเธอแลนด์ และเบลเยี่ยม มาร่วมกันลงชื่อใน Treaty of Rome ที่ห้องโถงใหญ่ในพิพิทธภัณฑ์ Capitoline ของโรมนั้น เค้าให้ชื่อคุณป้าว่า “ชุมชนเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community)” หรือ อีอีซี (EEC) ก่อนที่จะวิวัฒน์ไปเป็น ตลาดร่วมยุโรปและสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา

ในเวลานั้น เหตุที่เบบี๋อีอีซีมีสมาชิกน้อย เพียงกระจุกเดียวในภูมิภาค ส่วนนึงก็เพราะเค้าไม่อยากคบหากับพวกที่ไม่ใช่เดโมคราซีนั่นเอง ประเทศฟาสซิสอย่างสเปนและโปรตุเกส ก็เข้ามาเป็นสมาชิกในตอนหลัง (1986) ส่วนอังกฤษเองก็ยังลังเลเพราะเห็นว่ากลุ่ม 6 ชาตินี้มีประเด็นทางการเมืองแอบแฝง

หลายคนคงไม่เคยได้ยินว่า สองปีหลังจากเกิด Treaty of Rome นั้น อีก 7 ประเทศ (ออสเตรีย อังกฤษ เดนมาร์ค นอรเวย์ โปรตุเกส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์) ยังรวมหัวกันก่อตั้งองค์กรการค้าเสรียุโรป - European Free-Trade Association (EFTA) เพื่อแข่งกับอีอีซีด้วยซ้ำ (รักกันดี มาตั้งนานนมแล้ว ว่ามั้ย)

ยังไงก็ตาม ความสำเร็จของอีอีซีและตลาดร่วมยุโรป โดยเฉพาะจากการเติบโตของกระเป๋าสตางค์ของเยอรมันและฝรั่งเศสช่วงสามทศวรรษหลังสงคราม ทำให้หลายประเทศในยุโรปต่อคิวกันเข้าเป็นสมาชิก จนกลายเป็นอียู อย่างที่เรารู้จัก (ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปี 2004 คือเปิดรับประเทศยุโรปตะวันตกอีก 10 ประเทศ) ก็ว่าได้

อังกฤษเองพยายามเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1961 แต่ถูกนายพลเดอโกลออกเสียงคัดค้าน (veto) ถึงหลายคราว จนในที่สุดก็ได้เข้าเป็นสมาชิกอย่างสมใจนึกบางลำภูในปี 1973 พร้อมเดนมาร์คและไอร์แลนด์ ปัจจุบันนี้ อังกฤษและเดนมาร์คก็ยังอยู่นอกยูโรโซน คือไม่ได้ร่วมใช้เงินสกุลยูโรเช่นเดียวกับประเทศอื่น

เปิดทีวีเช้านี้ ได้ยินพูดถึงงานฉลอง 50 ปีที่จะจัดขึ้นในเบอร์ลิน (พอดี ผู้นำเยอรมันอยู่ในวาระดำรงตำแหน่ง EU presidency ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามประเทศสมาชิก) และการสัมภาษณ์วัยรุ่นจากหลายชาติเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอนาคตของคุณป้าอียู

ไม่นานมานี้ นักการเมืองระดับอียูหลายคนออกมาตัดพ้อว่า คุณป้าอียูไม่เป็นที่รักของชาวอียูอีกต่อไป ส่วนนึงเป็นเพราะภาพฝันในวันเก่า ที่วันวานยังหวานอยู่ เพราะอียูได้สร้างความเจริญทางสังคม เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ให้กับประชากรอียูนั้น ดูเหมือนจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ

อาจเป็นเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ (ในยุโรปตะวันตก) มีระดับการพัฒนาทางสังคมที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น ภัยจากการเมืองภายในที่จะทำให้เกิดสงครามอย่างในยุค 50 นั้นก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป บทบาทของอียูวันนี้ จึงจำกัดอยู่ในเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ ที่ดูเหมือนจะเข้าไปยุ่งเรื่องชาวบ้านมากขึ้นทุกที เช่น สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม

ยิ่งไปกว่านั้น การชะงักงันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจอย่างเยอรมันหรือฝรั่งเศส (ที่เป็นแกนของกลุ่มยูโรโซน ทั้งที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจในยุโรปอย่างอังกฤษ เดนมาร์คและสวีเดน ล้วนอยู่นอกยูโรโซน) ก็ดูเหมือนจะฉุดให้คุณป้าอียูเชื่องช้าลง และดูเหมือนจะอ้วนและแก่เร็วขึ้นมากเมื่อย่างใกล้เข้า 50

ภาพลักษณ์ของคุณป้า จึงย่ำแย่และถดถอยลงไป โดยเฉพาะในประเทศผู้ให้กำเนิด Treaty of Rome ทั้ง 6 เอง ตัวอย่างที่ชัดเจนของความไม่ไว้วางใจอียู เห็นได้จากผลการลงประชามติไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรปผ่านในฝรั่งเศสและเนเธอแลนด์ ซึ่งทำให้การเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างภายในเพื่อแข่งขันในตลาดโลกของอียูต้องหยุดอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ความที่สหภาพยุโรปมีความเทอะทะ ทำให้การผ่านกฎหมายหลายๆ ฉบับเป็นเรื่องยาก รวมทั้ง นโยบายที่จะรีฟอร์มอียูเอง ก็เจอกับปัญหาทางการเมือง เพราะการเปลี่ยนแปลงมักจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดในระยะแรก และนักการเมืองอียูรู้ดีว่า พวกเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสอยู่นานถึงวันที่การปฏิรูปหลายๆ อย่างให้ดอกออกผล

นายกฯ ของลักแซมเบิร์ก ถึงกับสารภาพว่า “พวกเราทุกคน (ข้าราชการและนักการเมืองอียู) รู้ว่าจะต้องทำอะไร แต่เราแค่ไม่รู้ว่าจะทำให้ได้รับเลือกกลับมาได้ยังไงหลังจากพวกเราทำมันไปแล้ว”

อนาคตของคุณป้าจึงน่าเป็นห่วง และน่าสนใจไปในคราวเดียวกัน

หัวใจของปัญหาก็คือ ประชาชนหลายประเทศ เอาการเมืองภายในและของอียูมาผสมปนเปเป็นเรื่องเดียวกัน ความยากลำบากจึงไปตกกับผู้บริหารประเทศว่าจะรักษาสมดุลระหว่างนโยบายของตนและของสหภาพได้อย่างไร

วันนี้ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกำลังยกประเด็นเรื่อง “National identity” ขึ้นมาฟาดฟันกัน เมื่อเปิดไปอีกช่อง วัยรุ่นฝรั่งเศสก็บ่นกับไมค์ของผู้สื่อข่าวว่า “หนูไม่ค่อยชอบหน้าคุณป้าอียู เพราะทำให้ความเป็นฝรั่งเศสลดน้อยลงไปทุกทีทุกที”

ความคิดเห็น

noka กล่าวว่า
อันนี้เป็นความรู้ใหม่เลยนะ ว่าป้าเขาอยู่และรักกันมานานขนาดนี้แล้ว อืม ดี ดี และก็แปลกใจที่เด็กๆรุ่นใหม่ไม่ยักกะชอบ คงเพราะมันทำให้มีการกลืน identity ของประเทศตัวแบบเผลออีกทีไม่รู้ว่าอยู่ประเทศไหนซะแล้ว

บทความที่ได้รับความนิยม