คณะปฏิรูปกระจับเปียกและรัฐธรรมนูญของนมสาว

“รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในมุมมองของกองทัพ”

นี่คือชื่อของการสัมมนา ที่จัดขึ้นโดยสำนักเลขาธิการ คมช. เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคมที่ผ่านมา ณ จังหวัดชลบุรี

ชื่อการสัมมนานี้ ฟังดูระรื่นหูนัก เพราะประกอบขึ้นด้วยคำและวลีที่เคยชิน ไม่ต่างกับประโยคอย่าง “คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสี ...ช่องสาม” หรือ “ช่องเจ็ดสี ทีวีเพื่อคุณ แท่มแท่ม...แทมแท้มแท่ม”

แต่ถ้าหากจะมองกันให้ลึกซึ้งแล้ว ชื่อการสัมมนาที่ว่า(ถ้าหากจะเป็นการสัมมนาจริงๆ แล้ว) น่าสนใจยิ่ง เพราะมีนัยและเจตจำนงที่ควรค่าแก่การแคะ แกะและถอดให้เห็นเนื้อใน

ตามความเข้าใจของผู้เขียนเอง เราอาจแบ่งประโยคดังกล่าวออกเป็นวลีที่แสดงถึงความคิดย่อยๆ ซึ่งประกอบกันได้ดังนี้

รัฐธรรมนูญ + ที่เหมาะสมกับ + การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตรีย์เป็นประมุข + ในมุมมองของกองทัพ

คำว่า “รัฐธรรมนูญ” นั้นชัดเจนว่าหมายถึงรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนรู้จักและเข้าใจว่าคืออะไร ในขณะที่คำขยายอย่าง“ที่เหมาะสม....ในมุมมองของกองทัพ” นั้นเข้ามาทำให้ “รัฐธรรมนูญ” ที่กำลังถูกพูดถึงนี้ มีลักษณะเฉพาะอย่างยิ่งและกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งเพียงฉบับเดียวหรือรูปแบบเดียว ต่างจากรัฐธรรมนูญอื่นๆ ที่รู้จัก

นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะที่ว่า ก็มีความเฉพาะในตัวของมันเองมากขึ้นไปอีกหนึ่งตลบ เมื่อเราพิจารณาวลี “ในมุมมองของกองทัพ” อย่างถี่ถ้วน เพราะ “รัฐธรรมนูญที่เหมาะสม” โดยทั่วไป ไม่เคยอยู่ในบริบทของ “กองทัพ” แต่มักจะอยู่ในบริบทของรัฐ/ผู้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ หรือประชาชน

หรือถึงแม้ “รัฐธรรมนูญที่เหมาะสม” อาจจะเคยอยู่ในบริบทของ “กองทัพ” หรือเคยอยู่ในความใคร่ครวญของคนในกองทัพ แต่ก็ไม่เคยมีสลักสำคัญถึงขนาดคู่ควรกับการนำมาตัดโฟม ติดข้างฝาเป็นหัวข้อของการสัมมนา

ดังนั้น เราจึงอาจทึกทักได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกนำมาสัมมนากันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเฉพาะและแตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เรารู้จักกันทั่วไปอย่างมาก

ยังไงก็ตาม เราไม่สามารถทำความเข้าใจมันโดยตัดออกจากหัวใจ (ที่อยู่ตรงกลางประโยค) คือวลีศักดิ์สิทธิ์ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ได้

เพราะรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม “กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ก็มีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างจาก “รัฐธรรมนูญที่เหมาะสม” ในความหมายกว้าง ถึงแม้จะเติมคำว่า “ในมุมมองของกองทัพ” เข้าไปด้วยแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ผู้อ่านอาจสังเกตได้ว่าผู้เขียนไม่ได้แยกวลี “การปกครองระบอบประชาธิปไตย” กับ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ออกจากกัน เนื่องจากมันไม่สามารถแยกจากกันได้ โดยเด็ดขาด

การแยกวลีทั้งสองออกจากกันจะทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่า นี่คือการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามตำราทั่วไป กล่าวคือ ระบอบการปกครองที่อำนาจเป็นของและมาจากประชาชน โดยประชาชนใช้อำนาจผ่านกลไกของการปกครอง โดยผ่านพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งกษัตริย์ผู้เป็นประมุขนั้นอยู่ “ภายนอก” การเมือง ในลักษณะของประมุขหรือ “สัญลักษณ์” เท่านั้น

ซึ่งต่างจาก “การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งเป็นวลีเดียว ที่ไม่อาจตัดออกจากกันได้ ดังนั้น เราอาจแทนที่ด้วยสัญลักษณ์อะไรก็ได้ เช่น X จึงกลายเป็น “รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับ X ในมุมมองของกองทัพ"

การแทนที่ด้วยสัญลักษณ์เช่น X อาจทำให้เราสามารถเข้าใจหัวข้อการสัมมนาได้ดีขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะเราจะไม่ติดกับหลุมพรางของภาษา รวมทั้งมายาของคำที่ถูกนำมาประกอบขึ้นโดยปราศจากความหมายเดิมแต่อย่างใด

ดังนั้น ด้วยวิธีคิดเดียวกัน เราอาจย้อนกลับไปเรียกคณะบุคคลที่ทำรัฐประหารว่า คณะปฏิรูป X หรือถ้าหากผู้อ่านไม่คุ้นเคยกับอักษรฝรั่ง ท่านก็อาจแทนที่ด้วยคำอะไรก็ตามที่ท่านเคยชิน อันได้แก่ชื่อเพื่อนสนิทหรือขนมที่ท่านโปรดปราณ เช่น คณะปฏิรูปกระจับเปียก หรือถ้าอยากให้ฟังดูน่าทะนุถนอมก็อาจจะใช้คำว่า คณะปฏิรูปนมสาว เป็นต้น (กระจับเปียกและนมสาวคือชื่อขนมไทยที่หาได้ยากในปัจจุบัน)

ยังไงก็ตาม ลองย้อนกลับมาที่เนื้อหาสาระหรือตัวตนที่แท้จริงของกระจับเปียก เอ้ย X นี้ นอกจากเราต้องเข้าใจว่ามันคือวลีเดียวที่ไม่สามารถแยกจากกันได้แล้ว เราควรทำความเข้าใจลึกลงไปอีกว่าคุณสมบัติความไม่สามารถแยกจากกันได้นั้น มาจากการพึ่งพาและความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นของวลี “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” และ “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะ “มี ๑ ไม่ได้ถ้าขาด ๒” หรือ “มีนมไม่ได้ถ้าขาดสาว” กล่าวคือ จะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ถ้าขาดพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข ซึ่งก็เป็นลักษณะเฉพาะและเจาะจงที่สำคัญยิ่งอีกประการของการปกครองประเทศไทยในปัจจุบัน

ในเมื่อเราได้รื้อและถอนปราการทางภาษาที่เป็นอุปสรรคแก่ความเข้าใจชื่อของการสัมมนานี้แล้ว เราก็ควรจะเรียกมันใหม่ให้เข้าใจง่ายและสะดวกต่อการสื่อสาร เพื่อสามารถถ่ายทอดต่อไปให้เกิดประโยชน์แก่ผู้จัดการสัมมนาครั้งนี้ โดยเรียกให้ง่ายขึ้นว่านี่คือการสัมมนา “รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับนมสาวในมุมมองของกองทัพ” ก็น่าจะเกิดคุณูปการยิ่งกับคณะผู้จัดไม่มากก็น้อย

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม