บทความพิเศษ

อวสานของไอทีวี :
จากสื่อทางเลือกสู่ทางเลือกของสื่อ


กำลังจะปิดฉากลงสำหรับตำนานของไอทีวี ทีวีเสรีของไทยที่มีจุดกำเนิดจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕

ซึ่งต้องถือว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็นผลผลิตของเจตนารมณ์บริสุทธิ์ของสังคม ที่ต้องการสร้างสถานีโทรทัศน์อิสระที่มุ่งเน้นการเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาและไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการเมืองอย่างแท้จริง

การปิดตัวลงเกิดจากมติของคณะรัฐมนตรี ที่สั่งให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวีสามารถดำเนินการออกอากาศจนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันนี้ (๖ มีนาคม) และหลังจากผ่านพ้นเที่ยงคืนนี้ไป ไอทีวีจะต้องหยุดดำเนินกิจการเพื่อรอขั้นตอนตามกฎหมาย สำหรับการยึดและโอนถ่ายทรัพย์สินและอุปกรณ์ให้กับหน่วยงานที่เป็นเจ้าหนี้ต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการผิดสัญญาของไอทีวี ที่ติดค้างชำระค่าสัมปทานและดอกเบี้ยต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นเจ้าของสัมปทาน อันเป็นผลให้ไอทีวีต้องตกอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้น และเป็นเหตุให้เกิดการดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ถึงแม้ในทางคู่ขนานนั้น ตัวแทนพนักงานไอทีวีจะได้เข้ายื่นคำร้องขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินพิเศษจากศาลปกครองกลางและขอความคุ้มครองให้ไอทีวีสามารถดำเนินการออกอากาศต่อไปชั่วคราวได้ (ยังคงรอคอยคำตอบ) แต่การยุติการออกอากาศในเที่ยงคืนวันนี้ก็เป็นจุดจบในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของเจตนารมณ์สื่อเสรีของไทย ไม่ว่าไอทีวีจะสามารถกลับมาออกอากาศใหม่อีกครั้งในอนาคตหรือไม่ก็ตาม

เหตุการณ์นี้จึงเท่ากับเป็นการบอกกับสังคมว่า สื่อเสรี “ที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร” นั้น คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศไทย! และทุนนั้นมีอานุภาพเหนืออุดมคติทั้งปวง !

จะว่าไปแล้ว เรื่องราวการต่อสู้ของไอทีวีบนทางสองแพร่งระหว่างอุดมการณ์สื่ออิสระกับความอยู่รอดทางธุรกิจนั้น ดำเนินมาโดยตลอดตั้งแต่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้เริ่มออกอากาศครั้งแรกในเดือนมกราคม ๒๕๓๙

โดยมีชนวนของจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งแรกคือ ความขัดแย้งระหว่างบอร์ดชุดใหญ่ที่มาจากฝั่งของธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ใหญ่ในขณะนั้น กับทีมบริหารและทีมข่าว (ที่ในขณะนั้นส่วนใหญ่มาจากเครือเนชั่นและถือเป็นผู้บุกเบิกและสร้างชื่อเสียงให้กับไอทีวีในยุคแรก ซึ่งนำโดยสุทธิชัย หยุ่น) ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ปะทุขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา

การเข้าแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหารและทีมข่าวจากคณะกรรมการบริษัทหรือบอร์ดชุดใหญ่ โดยการเข้ามาล้วงลูกของประกิต ประทีปะเสน (อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์) ในฐานะประธานกรรมการคนใหม่ของไอทีวีในช่วงปี ๒๕๔๒ นั้น
มาจากไทยพาณิชย์เห็นว่าไอทีวีที่เริ่มจะสร้างแบรนด์ของตนได้เข้มแข็งในตลาดนั้น น่าจะมีอนาคตที่สดใสในทางธุรกิจแทนที่จะต้องประสบกับภาวะขาดทุนอย่างที่เป็นอยู่ จึงเริ่มปฏิบัติการปฏิรูปไอทีวีโดยปรับผังรายการใหม่ที่เน้นรายการด้านบันเทิงเพื่อเพิ่มรายได้ และปรับโครงสร้างภายในโดยยุบบอร์ดบริหารและรวมศูนย์อำนาจไปไว้ที่คณะกรรมการบริษัทหรือบอร์ดใหญ่ทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งขั้นแตกหักระหว่างทีมข่าวกับคณะกรรมการ จนทำให้ทีมข่าวของเนชั่นลาออกยกชุดไปเพื่อจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเนชั่นแชนแนล

นับว่าการเข้ามากุมอำนาจเบ็ดเสร็จของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น คือจุดเริ่มต้นของจุดจบของเจตนารมณ์ไอทีวีนั่นเอง !

และภายใต้การบริหารของไทยพาณิชย์นั้น ได้ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้ง ที่มีนัยสำคัญต่อจิตวิญญาณสื่ออิสระของตัวไอทีวีเอง กล่าวคือ ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๓ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชวน หลีกภัยได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานไอทีวี เพื่อให้นิติบุคคลสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน ๗๕ เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่กำหนดให้นิติบุคคลถือหุ้นได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐ รายรายละไม่เกิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ! !

นอกจากนี้ ไทยพาณิชย์ยังดึงเอาชินคอร์ปเข้ามาถือหุ้นในไอทีวี โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นในตอนนั้น ๓๙ เปอร์เซ็นต์ โดยไทยพาณิชย์ได้ทำการแปลงหนี้เป็นทุนเหลือสัดส่วนการถือหุ้น ๕๕ เปอร์เซ็นต์ และสิทธิในการบริหารงานทั้งหมดเป็นของชินคอร์ป

และการเข้ามาของชินคอร์ปก็ถือเป็นการสังหารสถานีโทรทัศน์อิสระแห่งนี้แบบจัดพิธีศพให้เสร็จไปในตัวในคราวเดียว ! !

ชินคอร์ปได้บริหารงานไอทีวีโดยทำการผ่าตัดเปลี่ยนเครื่องในไอทีวีหลายครั้ง ตั้งแต่นำไอทีวีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เปลี่ยนทีมข่าวและทีมผู้บริหารหลายชุด จนกระทั้งร้องขอให้อนุญาโตตุลาการลดค่าสัมปทานที่ไอทีวีต้องจ่ายให้รัฐจากปีละ ๑,๐๐๐ ล้านบาท เหลือเพียงปีละ ๒๓๐ ล้านบาท และปรับสัดส่วนเนื้อหาระหว่างข่าวสารและสาระ กับรายการบันเทิง จาก ๗๐ : ๓๐ เป็น ๕๐ : ๕๐

ซึ่งน่าแปลกอย่างยิ่งที่อนุญาโตตุลาการก็ได้เห็นชอบตามคำขอดังกล่าวของชินคอร์ป ซึ่งต่อมาภายหลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ได้คัดค้านคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวและได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด จนทำให้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม ปีที่ผ่านมาให้คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่อนุญาตให้ลดค่าสัมปทานของไอทีวีลงนั้นเป็นโมฆะ และให้ไอทีวีปรับผังรายการกลับไปเป็นสัดส่วน ๗๐ : ๓๐ ตามเดิม

จนทำให้ไอทีวีตกอยู่ในสภาพลูกหนี้ค้างชำระของรัฐ อย่างที่เราได้เห็นในวันนี้

อนาคตของไอทีวีจะเป็นอย่างไรนั้น ยังถือว่าคลุมเครืออยู่มาก โดยหลักการ กรมประชาสัมพันธ์จะเข้าไปดูแลการบริหารจัดการหลังจากนี้ โดยเปลี่ยนชื่อสถานีใหม่เป็น “ทีไอทีวี” และใช้สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ เป็นสถานที่ดำเนินการชั่วคราว ในระหว่างที่รอสำนักงานกฤษฎีกาตีความเพิ่มเติมในส่วนของการปฏิบัติ เพื่อรับช่วงงานและการโอนถ่ายอุปกรณ์จากไอทีวีไปยังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกรมประชาสัมพันธ์อีกทอดหนึ่ง

ซึ่งในระหว่างที่รอการดำเนินการในขั้นตอนเหล่านี้ บรรดาพนักงานของไอทีวี (ซึ่งไม่ถือเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของใหม่หรือกรมประชาสัมพันธ์) ก็คงจะต้องดำเนินการเรียกร้องความเป็นธรรมจากภาครัฐ รวมทั้งขอความเห็นใจจากสังคมต่อไป

ยังไงก็ตาม จากการมองปรากฎการณ์ ๒ เรื่องคือการออกมากล่าวคำขอโทษของนายกฯ ต่อพนักงานไอทีวี ในกรณีที่ตนไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ตามที่เคยให้สัญญาไว้ และจากคำแถลงอย่างชัดเจนของคุณหญิงทิพาวดี ที่ดูแลด้านกรมประชาสัมพันธ์ (ซึ่งทั้งสองคนก็ได้เน้นย้ำเรื่องการ “ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” แบบแผ่นเสียงตกร่องนั้น) ทำให้เห็นว่าการเข้าไปแทรกแซงเพื่อเปลี่ยนชะตากรรมของไอทีวีและพนักงานเป็นเรื่องยาก และดูเหมือนจะสายเกินไปแล้ว

หากจะพิจารณาจากมุมมองของอำนาจและสถานะของรัฐบาลนี้ ที่มาจากการฉีก “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมาย” รวมทั้งมาจากการสถาปนาตัวเองบนพื้นฐานของ “สถานการณ์พิเศษ” ที่ไม่ปกติแล้ว การกล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด “ตามกฏหมาย” กับไอทีวี ก็ดูเป็นเรื่องน่าขันและขัดแย้งในตัวเอง นอกจากนี้ การไม่เปิดโอกาสหรือพื้นที่ให้กับเหตุผลพิเศษ เช่นการธำรงรักษาเจตนารมณ์หรืออุดมคติของสื่ออิสระ ที่ได้มาจากการต่อสู้เสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนกับอำนาจเผด็จการนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นการเลือกใช้กฎหมายปกติในภาวะที่ไม่ปกติ อย่างขาดสติสิ้นดี

ยังไงก็ตาม นี่อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือไอทีวี เพราะวิญญาณสื่ออิสระนั้นได้ถูกกระทำย่ำยีไปเป็นเวลานานแล้ว นานซะจนอาจจะไปเกิดใหม่อีกหลายรอบด้วยซ้ำ ส่วนสิ่งที่เห็นนั้นก็อาจจะเป็นเพียงร่างทรงที่กล่าวอ้างจิตวิญญาณของสื่อเสรี เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจเท่านั้นเอง

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม