โรงเรียนโบบูร์ก วันพฤหัสบดี

เมื่อวานนี้ ผมได้เรียนวิชา “สังคมวิทยาสำหรับผู้สนใจ” จาก “โรงเรียนโบบูร์ก วันพฤหัสฯ” ครับ

ที่เดียวกันนี้แหละ เมื่อไม่นานมานี้เอง ผมก็ได้มีโอกาสทำความรู้จักแนวคิดปรัชญา จากปากของนักคิดชื่อก้องโลกอย่างฌาร์ค ดาร์ริดา (Jacques Derrida)!

บทเรียนในวิชาสังคมวิทยาที่ได้รับเมื่อวานนี้ ก็พิเศษไม่แพ้กัน เพราะสอนโดยนักสังคมวิทยานามอุโฆษ ปิแอร์ บูร์ดิเออ (Pierre Bourdieu) ...

ไม่ต้องอิจฉาครับ คนเราทำบุญมาไม่เท่ากัน แล้วก็ไม่ได้โม้ด้วย เพราะผมมีพยานรู้เห็น (เป็นใจ) ไม่ได้เข้าเรียนคนเดียว ส่วนใครที่พอมีความรู้เกี่ยวกับแวดวงนักปรัชญาหรือนักคิดของฝรั่งเศส จะต้องหาว่าผม ถ้าไม่ฝันก็เพี้ยนไปแล้ว เพราะนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ทั้งคู่ต่างก็จากโลกไปตั้งแต่ปี 2004 และ 2002 ตามลำดับ

จริงครับ ทั้งคู่ได้จากโลกที่วุ่นวายนี้ไปพักผ่อน ณ ที่ที่ท่านทั้งสองชอบแล้ว (ที่ผมค่อนข้างมั่นใจ เพราะเชื่อว่าทั้งสองคน ได้แสดงบทบาทเชิงรุกของปัญญาชนต่อสังคมและได้ทิ้งมรดกอันทรงคุณค่าไว้ให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังอย่างประเมินค่าไม่ได้ทีเดียว)

แต่ผมไม่ได้โกหกจริงๆ เพราะห้องเรียนที่ผมว่าคือ โรงหนัง mk2 สาขา beaubourg (ตั้งอยู่บนถนนชื่อเดียวกันนี้) ซึ่งผมก็ได้พบและเรียนรู้จากครูทั้งสองผ่านทางจอเงิน เอ้ย... จอภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดสารคดีเกี่ยวกับนักวิชาการทั้งสองเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

และที่เรียกว่า “โรงเรียนโบบูร์ก วันพฤหัสฯ” นั้นก็เพราะสารคดีทั้งสองเรื่องนี้ ฉายให้ชมรอบเดียวต่อสัปดาห์ เฉพาะในรอบเช้า ของวันพฤหัสบดีเท่านั้น

ไม่ได้ถือโชคถือลางอะไรหรอกครับ โรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ Place Beaubourg (ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยของปารีส หรือศูนย์จอร์จ ปอมปิดูแห่งนี้) ฉายหนังจำนวนหลายสิบเรื่องต่อสัปดาห์ สำหรับเรื่องที่อยู่ในโปรแกรมฉายปกติ ทางโรงก็จะฉายตลอดทั้งวันทุกวันเหมือนกับโรงอื่นๆ ทั่วไป ส่วนหนังหรือสารคดีที่มีความพิเศษ (เช่น มีคุณค่าในเชิงศิลปะหรือวิชาการ หรือจัดอยู่ในโอกาสพิเศษ) ก็จะถูกจัดลงโปรแกรมแบบ “ของดีมีน้อย” คือส่วนใหญ่จะฉายอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น เรียกได้ว่า พวกขาจร หรือพวกดูหนังไม่ทำการบ้าน ไม่มีโอกาสได้ดูหรอกครับ เรียกว่าต้องตั้งใจมาดูกันจริงๆ

แต่อาจจะด้วยความที่โรงฯ นี้ตั้งเผชิญหน้ากับพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำของปารีส (ที่แค่ตัวอาคารเองก็เรียกว่ามีความล้ำสมัยและสวยงามแปลกตา) อย่างที่ว่า จะให้ฉายหนังพื้นๆ จำพวกฮอลิวูดเหมือนโรงหนังทั่วๆ ไป ก็คงจะดูผิดที่ผิดทางไปหน่อย ในโปรแกรมฉายปกติ เขาก็เลยคัดหนังที่อาร์ตหรือไม่ใช่หนังตลาดมาเป็นส่วนใหญ่

เล่าเกี่ยวกับโรงหนังมาตั้งนาน จนลืมอาจารย์ทั้งสองคนไปเลย ยังไงก็ตาม ถ้าจะพูดถึงแกทั้งสองจริงๆ คงไม่มีเวลาและพื้นที่อย่างเพียงพอ เพราะเรซูเม่ทั้งคู่ยาวเป็นหางว่าวครับ เอาแค่ผลงานสำคัญของทั้งสองคน ก็คงต้องเขียนกันเป็นวัน

ถ้าเอาแบบเนื้อๆ ไม่เอาเส้น น้ำแกง ตับ หัวใจ ถั่วงอก ฯลฯ แล้วละก็ ครูฌาร์ค (หาญกล้าเรียกแบบสนิท) เป็นผู้วางรากฐานของแนวคิดทางปรัชญาที่เรียกว่า “ดีคอนสตรัคชั่น” หรือ Deconstructionism ส่วนครูปิแอร์ (คนนี้ก็ซี้กัน..เค้าสองคนนะ ผมไม่เกี่ยว) ก็เป็นคนเสนอและทำให้แนวคิดเกี่ยวกับ “ทุนทางสังคม” และ “ทุนวัฒนธรรม” เป็นรูปเป็นร่าง และเป็นที่เข้าใจกันในวงกว้าง จนกลายเป็นคำฮิตที่ข้าราชการและนักการเมืองไทย ชอบเอาไปใช้ (แต่ไม่รู้ความหมาย)ไง

พูดอย่างนี้ จะหาว่าสรุปเหมารวมเกินไปก็ได้ เพราะทั้งคู่แกทำอะไรอีกเยอะ ใครอยากรู้ ก็ไปหาอ่านเอานะ เพราะที่นี่ไม่ใช่เอ็นไซโกปิเดียหรือวิกิพีเดีย

เออ ลืมบอกไป ทั้งคู่เป็นเพื่อนนักเรียนเกือบจะร่วมรุ่นที่จบจากสถาบันผลิตปัญญาชนชั้นนำของฝรั่งเศสที่เรียกว่า Ecole normale supérieure ด้วย คงไม่ต้องบอกว่าโรงเรียนนี้เค้ามีผลผลิตคุณภาพชั้นยอดแค่ไหน เพราะนักคิดฝรั่งเศสทุกคนที่มีชื่อเสียงและโลกเค้ายกย่องให้เป็น “ป๋า” นั้น ต่างก็ผ่านที่นี่มาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ซารตร์ (1924) ฟูโก (1946) บูร์ดิเออ (1951) และดาร์ริดา (1952) ซึ่งปีข้างท้ายคือปีที่ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นปีที่รับเข้า

โอว....อย่างนี้กระทรวงศึกษาธิการบ้านเราต้องส่งคนมาดูงานอย่างเร่งด่วนซะแล้ว

สำหรับใครที่สนใจ และไม่ได้มีถิ่นฐานพำนักหรือไม่ได้พลัดถิ่นฐานมาอยู่ปารีส ก็อาจจะไปหาดูดีวีดีของสารคดีในตอนของดาร์ริดาได้ (ในชื่อ Derrida ออกฉายปี 2003 ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ) มีบรรยายอังกฤษ เพราะสารคดีนี้สร้างโดยผู้สร้างที่มาจากโลก anglo-saxon เห็นว่ามีขายทาง อเมซอนดอทคอม ลองดูรายละเอียดได้ใน http://www.derridathemovie.com/

สำหรับสารคดีอีกเรื่องชื่อ La sociologie est un sport de combat ซึ่งเป็นการตามถ่ายบูร์ดิเออตามสถานที่ต่างๆ ที่แกไปอบรม ประชุมหรือร่วมในวงถกเถียง ภายในช่วงเวลาสามปีนั้น ถ่ายทำโดยนักข่าวสารคดีชื่อ Pierre Carles ในปี 2000 (ใช้ภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด) ไม่แน่ใจว่าจะหาตามท้องตลาดได้มั้ย

ยังไงก็ตาม ทั้งสองวิชายังคงเปิดสอนที่โรงเรียนโบบูร์ก วันพฤหัสฯ ต่อไป ใครสนใจก็ลองไปนั่งเรียนดูละกัน

สำหรับผมแล้ว การได้สัมผัสความเป็นปุถุชนของดาร์ริดาและบูร์ดิเออ ซึ่งปกติแล้ว เราทำได้แค่เพียงสัมผัสภูมิปัญญาของพวกเขาผ่านทางตัวอักษร ทำให้ผมมองเห็นด้านที่เป็น “คน” ของพวกเขามากขึ้น สิ่งที่แปลกก็คือ ความเป็น “คน” ที่ว่านี้ ไม่ได้บั่นทอนภาพของความยิ่งใหญ่ที่ใครต่อใครสร้างให้แก่เขาเลย กลับยิ่งขับเน้นภาพของความเป็นปราชญ์และอัฉริยบุคคล ที่ดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับเรา หรืออาจสวนทางและร่วมบาทวิถีเดียวกันได้ (ใครจะรู้..)

สำหรับคนฝรั่งเศสที่ได้ชมสารคดีนี้ ผมเชื่อว่า เส้นแบ่งระหว่างพรมแดนของ “ความรู้” และ “ชีวิตในท้องถนน” นั้นพร่ามัวลงไปอย่างไม่ทันรู้ตัว

ขณะที่ความเข้าใจว่า “ความรู้ไม่ได้มีแต่ในตำราเรียน” นั้นได้กลายเป็นความจริงของโลกอินเตอร์เนต หรือโลกโลกานุวัติ สารคดีทั้งสองเรื่องนี้ (รวมทั้งวิธีคิดของเจ้าของโรงหนัง) กลับฉายภาพของความจริงที่ “จริงยิ่งกว่า” ว่า “เราเข้าถึงความรู้ได้ทุกหนแห่ง” แม้กระทั่งในสถานที่ที่คนไทยคิดว่าเป็นแหล่งบันเทิง

ในขณะที่โรงเรียนในประเทศไทย ยังล้มเหลวในการผลิตความรู้และผู้มีความรู้ สังคมฝรั่งเศสให้บทเรียนที่น่าสนใจว่าสถานที่นอกโรงเรียนของเขา กลับทำหน้าที่ส่งต่อความรู้และเชื่อมโยงโลกของปัญญาชนกับโลกของปุถุชนได้อย่างไม่เคอะเขิน

โรงเรียนโบบูร์กจึงเป็นแค่สาขาหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งความรู้ ที่เปิดทำการเที่ยงวันยันเที่ยงวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ แบบไม่ต้องง้อภารโรงกันเหมือนมหาวิทยาลัยเที่ยงวันของไทย

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม